Tuesday, May 27, 2025

ตามรอยจิตรกรรมจากซีรี่ส์ The White Lotus วัดสุวรรณาราม- วัดสุทัศน์

 


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท.  เมษายน ๒๕๖๘


ภาพของนักท่องเที่ยวฝรั่งเดินถือภาพถ่ายพลางชะเง้อชะแง้มองภาพจิตรกรรมบนฝาผนังในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามเปรียบเทียบกันกับภาพถ่ายในมือ ดูจะพบเห็นมากเป็นพิเศษครับในช่วงนี้ สังเกตจากการที่ผมเข้ามานั่งพักหลบร้อนอยู่แค่เพียงไม่กี่นาที ยังนับได้เป็นสิบรายแล้ว

ต้นเหตุนั้นมาจากซีรี่ส์ระดับอินเตอร์เรื่องดัง “The White Lotus ซีซัน ๓  ที่ “น้องลิซ่า” ลลิษา มโนบาล ศิลปิน K-POP สาวชาวไทยสุดฮอตร่วมแสดงอยู่ด้วยนั่นแหละครับเป็นสำคัญ  เนื่องพราะช่วงไตเติลเปิดเรื่องหรือ Opening Credit ได้นำเอาภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดสุวรรณารามและวัดสุทัศนเทพวราราม สองอารามเก่าแก่ของไทยมาลำดับตกแต่งเป็นภาพเปิดเรื่องอย่างตระการตา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแห่กันมาตามแกะรอยภาพงาม ๆ ที่เห็นจากซีรี่ส์กันเป็นทิวแถว

ความจริงแล้วภาพจิตรกรรมวัดสุทัศนเทพวรารามอันปรากฏในซีรี่ส์นั้นต้องบอกว่าเป็นเพียงส่วนย่อยครับ เนื่องจากถูกเลือกมาจาก “ภาพกาก” ซึ่งในจิตรกรรมไทยหมายถึงภาพซึ่งไม่ใช่เนื้อหาหลัก เป็นแค่ส่วนประกอบ เช่น สภาพแวดล้อม ทิวทัศน์  บ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน สิงสาราสัตว์ หลายภาพยังเลือกแค่บางส่วนไปตัดต่อเข้าด้วยกัน


นมิราชชาดก จิตรกรรมฝีมือชั้นบรมครูของหลวงวิจิตรเจษฎาหรือครูทองอยู่ จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๓  ปรากฏเป็นภาพเด่นในไตเติลซีรี่ส์ 


ตัวภาพจิตรกรรมที่เป็นเนื้อหาหลักน่าดูชมจริง ๆ นั้นต้องบอกว่าอยู่ที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร อารามโบราณย่านบางกอกน้อย เดิมชื่อ “วัดทอง” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาปฏิสังขรณ์ใหญ่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ เก๋ง และเสนาสนะต่าง ๆ ล้วนสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นมาเขียนขึ้นพร้อมกับการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ก่อนหน้าจะเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดสุวรรณาราม”  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ลายเส้นสีสันจิตรกรรมอันตระการตานั้นรังสรรค์ขึ้นบนผนังภายในพระอุโบสถทั้งสี่ด้านรอบองค์ ”พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปประธานโบราณซึ่งอัญเชิญจากหัวเมืองเหนือลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ รายละเอียดของภาพระยิบระยับจนไม่มีพื้นที่ว่าง ตั้งแต่ผนังหุ้มกลองทิศตะวันออกด้านหน้าพระประธาน ระหว่างช่องประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนประสูติและตอนมหาภิเนษกรมณ์ (เสด็จออกบวช) ในขณะพื้นที่เหนือแนวประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย (ผจญมาร) อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ส่วนผนังทิศเหนือเขียนภาพจาก “ทศชาติชาดก” อันเป็น ๑๐ พระชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีในฐานะพระโพธิสัตว์ก่อนมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า ไล่เรียงไปตามลำดับรวม ๙ ชาติ ได้แก่ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก นารทชาดก และวิธูรชาดก

องค์พระศรีศาสดา พระประธานในอุโบสถ

ชาติที่สิบคือ “เวสสันดรชาดก”  อันเป็นชาติสุดท้ายซึ่งถือเป็น “มหาชาติ” นั้น ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยการใช้พื้นที่ของผนังด้านทิศใต้ระหว่างช่องหน้าต่างทั้งแถบ เขียนเป็นภาพจากเรื่องเวสสันดรชาดก ไล่เรียงตั้งแต่ตอนเริ่มต้นมาจากด้านหน้าตามลำดับมาจนถึงตอนจบตรงผนังหุ้มกลองระหว่างช่องประตูด้านหลังพระประธาน ครบถ้วนทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนเทโวโรหณะ คือพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาตามบันไดนาค ระหว่างเสด็จทรงเปิดโลกให้เห็นทั่วถึงกันทั้งสามโลก โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกนรก (แต่พื้นที่นรกในภาพนี้น้อยไปหน่อย วาดไว้แค่ช่องเล็ก ๆ นิดเดียว พอเป็นพิธี อาจเพราะนรกดูไม่สวยงามเจริญหูเจริญตา) โดยมุมของภาพวาดเป็นสังกัสนครที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาถึงโลกมนุษย์ มีกษัตริย์และประชาชนออกมาตักบาตรรับเสด็จ     


จิตรกรรมเทพชุมนุมเรียงรายในระดับเหนือหน้าต่างอุโบสถ

เหนือช่องหน้าต่างบนผนังด้านข้างทั้งสองฟากฝั่งซ้ายขวายังเข้มขลังด้วยภาพเขียน “เทพชุมนุม” บรรดาเหล่าทวยเทพน้อยใหญ่ทั้งพระอินทร์ พระพรหม เทวดา ยักษ์ ครุฑ นาค ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร ในอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อย ต่างองค์ยอกรพนมหัตถ์ถวายอัญชุลี หันพักตร์ไปยังทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของพระประธาน เรียงรายลดหลั่นกันเป็นแถวเป็นแนวสลับสีแดงดำอย่างมีระเบียบบนผนังรวมฝั่งละสี่แถวด้วยกัน เดินเข้าไปในพระอุโบสถแล้วให้บรรยากาศเหมือนได้ร่วมเข้าเฝ้าพระพุทธองค์บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังไงยังงั้น

 ต้องยอมรับว่าผู้กำกับซีรี่ส์ The White Lotus  ซีซัน ๓ นั้น “ตาถึง” จริง ๆ ครับ ที่เลือกจิตรกรรมจากพระอุโบสถแห่งนี้ไปใช้เปิดเรื่อง เนื่องจากผลงานทั้งหมดในที่นี้ถือเป็นงานฝีมือระดับ “บรมครู” ชั้นแนวหน้าของสมัยรัชกาลที่ ๓ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาพหลักที่ใช้เป็น “ตัวเปิด” ซีรี่ส์ ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมนั้น คือผลงาน”มาสเตอร์พีซ” ของ หลวงวิจิตรเจษฎา หรือ ครูทองอยู่ ยอดฝีมืออันดับ ๑ ของแผ่นดิน ผู้ลือเลื่องชื่อด้วยความเชี่ยวชาญด้านลวดลายไทยประเพณีอันวิจิตรและความงดงามของลายเส้นพลิ้วสะบัดไหว ซึ่งเราจะเห็นจากในส่วนของ “เส้นฮ่อ” ใช้แบ่งเรื่องราวของภาพใน“เนมิราชชาดก” บริเวณห้องที่ ๔ ว่าโดดเด่นแตกต่างออกไปจากภาพอื่น ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีเทคนิคเลือกใช้สีสันตัดกันบริเวณฉากหลังช่วยสร้างบรรยากาศขับเน้นจุดเด่นตรงกึ่งกลางให้ดูลอยตัวขึ้นมาเป็นสามมิติอย่างตื่นตาน่าอัศจรรย์

ชาวต่างชาติหลากลีลาเปี่ยมชีวิตชีวาอารมณ์ ฝีมือหลวงเสนีย์บริรักษ์ หรือครูคงแป๊ะ จิตรกรเอกผู้ได้ชื่อว่าฝีมือทัดเทียมกับครูทองอยู่

ทว่าภาพที่ไม่ได้ปรากฏในซีรีส์ก็ใช่ว่าจะยิ่งหย่อนกว่ากัน กลับถึงขั้น “ต้องห้ามพลาด” ด้วยซ้ำไป หนึ่งนั้นคือภาพของ “มโหสถชาดก” ในห้องที่ ๕ ข้าง ๆ  ห่างเพียงช่องหน้าต่างกั้น อันเป็นผลงานชิ้นเอกของหลวงเสนีย์บริรักษ์หรือ “ครูคงแป๊ะ” ซึ่งชื่อชั้นจัดอยู่ในระดับทัดเทียมกันกับ “ครูทองอยู่” ด้วยฐานะคู่แข่งคนสำคัญเพียงหนึ่งเดียว ในส่วนพระมโหสถที่เป็นเรื่องราวหลักนั้นครูคงแป๊ะวาดตามธรรมเนียมนิยมมาตรฐานจิตรกรรมไทยทั่วไป ความโดดเด่นมาอยู่ตรงการวาดภาพผู้คนตัวประกอบในภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่งยุโรปและแขกอาหรับ ล้วนสร้างสรรค์ด้วยอิริยาบถหลากหลาย ตั้งแต่ฉากแอ็คชั่นอย่างการต่อสู้กันบนหลังม้า ที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความรวดเร็วว่องไวผาดโผน แม้แต่ภาพจับกลุ่มยืนชุมชุมกันเป็นหมู่ ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งสีหน้าท่าทาง อารมณ์ เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องแต่งกายล้วนเก็บรายละเอียดได้สมจริง สื่อถึงฐานะอันไม่ธรรมดาให้รับรู้ได้โดยไม่ต้องมีคำบรรยาย 

เรือสำเภาอัปปางในพายุจากพระมหาชนกชาดก อีกภาพที่งดงามด้วยบรรยากาศ  

เรือสำเภาจีนและท้องทะเล ภาพทิวทัศน์ที่ผสานทัศนมิติแบบสมัยใหม่เข้าไปในจิตรกรรมไทยประเพณี

            ภาพอื่น ๆ ในอุโบสถก็เช่นกัน ย่อมไม่ใช่ชั้น “โนเนม” แน่นอน แม้จะไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามของจิตรกรผู้วาด นั่นก็เพราะความเชื่อในสมัยนั้นถือว่าสร้างงานศิลปะเพื่อเป็นพุทธบูชา เพียงฝีไม้ลายมือที่ฝากเอาไว้ก็บ่งบอกฝีมือได้ ว่าแต่ละท่านนั้นอยู่แนวหน้าในระดับ “ท็อปเท็น”ของยุคอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างเช่นในภาพ “มหาชนกชาดก” วาดคลื่นลมคลุ้มคลั่งกลางสมุทรซึ่งทำให้เรือสำเภาของพระมหาชนกอัปปางลงเอาไว้อย่างได้บรรยากาศสมจริง หรือภาพของทิวทัศน์ขบวนเรือสำเภาลอยละล่องท่องคลื่นกลางท้องทะเลในตอนสุดท้ายของเวสสันดรชาดกบนผนังด้านหลังองค์พระประธาน ปรากฏการนำเอาเทคนิคการวาดทัศนมิติใกล้ไกลแบบตะวันตกมาผสานเข้ากับจิตรกรรมไทยประเพณีได้อย่างลงตัว ให้อารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝัน  (ทั้งสองภาพนี้ก็ถูกนำไปตัดต่อดัดแปลงเข้าด้วยกัน ใช้เป็นส่วนหนึ่งของไตเติลซีรีส์ด้วย) สรุปง่าย ๆ ว่างามขั้นอัศจรรย์ทุกภาพครับ หากมีเวลาควรชมจนครบถ้วนให้เป็นบุญตา ผมเองเดินดูติดลมเพลินชมจนลืมทั้งมื้อเช้ามื้อกลางวันกันเลยทีเดียว

ทิวทัศน์ของบ้านเมืองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏบนจิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน วัดราชประดิษฐานสถิตมหาสีมาราม

ระหว่างทางมุ่งหน้ามายังวัดสุทัศน์ฯ  ผมไม่ลืมแวะเข้าไปชมจิตรกรรมในอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ถึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับซีรี่ส์ แต่ต้องมาชมเพราะเป็นผลงานอันทำให้เห็นชัดถึงพัฒนาการของจิตรกรรมอันต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ ๓ อย่างของวัดสุวรรณาราม ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสานบางส่วน  ในขณะจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์ฯ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พัฒนาไปอีกขั้น โดยผสมผสานงานจิตรกรรมแบบดั้งเดิมเข้ากับทัศนียภาพสมัยใหม่มากขึ้น เช่น เทพชุมนุมที่เคยเขียนให้ประทับนั่งเรียงแถวบนฉากหลังสีแดงหรือดำ ถูกปรับเปลี่ยนเขียนเป็นเทพชุมนุมแบบต่างเหาะเหินอยู่ในอากาศท่ามกลางท้องฟ้าครามและเมฆขาวเหมือนจริง 

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วัดราชประดิษฐานสถิตมหาสีมาราม

 เนื้อหาของภาพก็ฉีกแนวจากเรื่องราวในพุทธศาสนาอย่างพุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ หันมาเขียนป็นเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน เช่น ภาพการทอดพระเนตรสุริยุปราคาและจันทรุปราคา บนผนังหุ้มกลองด้านหน้า  ส่วนผนังด้านข้างทั้งสองฟากเขียนเป็นภาพของ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตามพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้อายู่หัว รัชกาลที่ ๕  ไล่เรียงตามลำดับไป ซึ่งบางพิธีไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน เช่น  พิธีตรียัมพวาย  (โล้ชิงช้า) บางพิธีก็มีพัฒนาการกว้างขวางออกไปมาก เช่น พิธีลอยพระประทีป  (ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีลอยกระทง) พิธีสงกรานต์  (ในภาพมีแต่การไปทำบุญที่วัด ก่อพระเจดีย์ทราย ไม่เห็นเล่นสาดน้ำกันแต่อย่างใด  ปัจจุบันพัฒนาการเป็นเทศกาลเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานไปแล้ว)  โดยเป็นการวาดในลักษณะจิตรกรรมไทยประเพณีผสมผสานด้วยทัศนมิติสมัยใหม่ เรียงรายด้วยตึกรามบ้านช่องวิถีชีวิตผู้คน เป็นการบันทึกสภาพของบ้านเมืองในช่วงรัชกาลที่ ๔-๕ เอาไว้ในทางอ้อม

ฉากประตูเมืองในเรื่องทธิวาหนชาดก จากพระเจ้าห้าร้อยชาติ บนเสาด้านหน้าพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

               เดินต่อมาจนถึงวัดสุทัศน์ในแดดยามบ่ายก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ เหนื่อยนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ร้อนนี่แหละทำให้ต้องขอนั่งพักก่อนสักหน่อย พอดีกับเป็นวันพระภายในวิหารมีธรรมเทศนา ถือโอกาสฟังไปพักไปในตัว ระหว่างนี้ถึงได้สังเกตเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายถือภาพเข้ามามองหาตามรอยจิตรกรรมจากซีรี่ส์ค่อนข้างเยอะ ผิดกับที่วัดสุวรรณาราม อาจเพราะวัดสุทัศน์ฯ เป็นแหล่งที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกกว่า พักจนหายร้อนก็พอดีกับธรรมเทศนาจบ เลยเดินไปตามดูกับเขาบ้าง

ภาพจิตรกรรมของวัดสุทัศน์ฯ นั้นเขียนขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลของพระวิหารหลวง คือเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ผนังสี่ด้านตั้งแต่แนวใต้ขอบหน้าต่างขึ้นไปจดฝ้าเพดานวาดภาพประวัติอดีตพระพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ ตามลำดับโดยเวียนขวาแบบทักษิณาวรรต บนเสาพระวิหารหลวง วาดภาพโลกสัณฐาน ป่าหิมพานต์ ทวีปทั้งสี่ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และเรื่องราวจากชาดกรวมทั้งหมด ๓๐ เรื่อง ภาพที่ปรากฏในซีรี่ส์ส่วนใหญ่ก็อยู่แถว ๆ เสานี้แทบทั้งหมดครับ กับมีบางภาพอยู่แถว ๆ ผนังด้านหลังพระประธาน

ภาพของเสือกำลังกินซากกวาง ถูกฝูงหมาป่าเข้าล้อมกรอบเพื่อแย่งชิง บนเสาด้านข้างพระประธาน

อย่างบอกไว้ตอนแรก ว่าภาพจิตรกรรมจากวัดสุทัศน์ฯ ส่วนใหญ่ถูกนำไปตัดต่ออีกที แต่ก็ยังมีภาพที่ไม่ได้ดัดแปลงเลยอยู่เหมือนกัน อย่างภาพเสือกำลังกินซากกวาง ถูกล้อมกรอบโดยสุนัขป่าเพื่อแย่งชิงอาหาร บนเสาวิหารด้านซ้ายขององค์พระประธาน  อีกภาพภาพเด่นเป็นที่จดจำและดัดแปลงน้อยจนแทบไม่แตกต่างได้แก่ ภาพการรบตรงหน้าซุ้มประตูเมือง ภาพจริงอยู่บนเสาตรงหน้าพระประธาน เป็นภาพจากทธิวาหนชาดก ในซีรีส์ดัดแปลงเขียนคำว่า “บัวขาว” เอาไว้บนซุ้มประตู กับเติมภาพลิงกำลังต่อสู้กับคนเข้าไป ส่วนภาพอื่น ๆ นั้นดัดแปลงมากน้อยต่างกันไป แต่พิจารณาดูดี ๆ ก็เห็นได้ไม่ยากครับ  ไม่บอกดีกว่าว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ให้ไปเดินหาดูกันเองสนุกกว่า

หนึ่งในทัพมารถูกจระเข้กัดกิน จิตรกรรมพุทธประวัติตอนมารวิชัย วัดสุวรรณาราม


Tuesday, January 23, 2024

วัดเทิงเสาหิน ปริศนาเสาศิลาอาราม

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิพม์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๖๖

เสาหินเรียงรายบนวิหาร

เสาหินสีเทาเรียงรายนั้นโดดเด่นจนเห็นได้แต่ไกล  จึงไม่น่าแปลกใจที่ถูกใช้เป็นชื่อเรียกขานอารามโบราณแห่งนี้ว่า วัดเทิงเสาหิน ในปัจจุบัน  

ชื่อเดิมในอดีตสมัยที่ยังเป็นซากวัดร้างจมอยู่กลางป่านั้น ชาวบ้านเคยเรียกกันว่า “วัดดงแหน” เนื่องจากในบริเวณโบราณสถานถูกล้อมรอบด้วยป่าต้นแหนหรือต้นสมอพิเภก ก่อนที่หลวงปู่เพ็ง พุทธธัมโม (พระครูสิริหรรษาภิบาล อดีตเจ้าอาวาส) ธุดงค์ผ่านมาพบเข้า เกิดศรัทธาก่อตั้งเป็นวัดขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ หลังจากนั้นกรมศิลปากรจึงได้มาสำรวจและทำการบูรณะขุดแต่งโบราณสถานวัดเทิงเสาหิน แล้วขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดขอบเขตเนื้อที่ประมาณ ๔,๘๐๐ ตารางเมตร

เจดีย์ประธานของวัดสถาปัตย์แบบล้านนา 

            ร่องรอยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือเจดีย์ประธานของวัดที่หลงเหลือเพียงชุดชั้นฐานเขียงและชั้นฐานบัวย่อเก็จบางส่วนที่อยู่ถัดขึ้นไป ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับวิหาร ในบริเวณวิหารมีฐานชุกชีขนาดใหญ่กับชิ้นส่วนของเศียรพระปูนปั้นตั้งอยู่ด้านบนตรงกึ่งกลาง

ทั้งฐานไพที วิหาร และเจดีย์ล้วนแล้วแต่ก่อด้วยอิฐทั้งสิ้น มีเพียงเสาวิหารอย่างเดียวที่ใช้วัสดุแตกต่างออกไป นั่นคือ “หิน”  

เสาหินแปดเหลี่ยมเรียงรายมุมหนึ่งของวิหาร


       เสาของวิหารเป็นแท่งหินทรายสกัดเป็นแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๕ เซนติเมตร  ความยาวต้นละ ๓.๕ เมตร แต่ละเสาประกอบด้วยชิ้นส่วนหิน ๔ ชิ้น ชิ้นส่วนล่างสุดคือส่วนฐานของเสา สกัดเป็นแป้นกลม เจาะรูตรงกลางเหมือนกับโดนัท สำหรับรองรับเดือยของตัวเสา ส่วนที่เป็นตัวเสา ลักษณะเป็นแท่งยาวปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรู  ส่วนปลายอีกด้านสกัดเป็นเดือย นำมาต่อเข้าด้วยกัน ในขณะชิ้นส่วนบนสุดที่เป็นยอดเสาเจาะเป็นช่องด้านข้างไว้สำหรับสอดคานไม้รองรับหลังคาวิหาร  

            เสาหินที่เห็นตั้งอยู่เรียงรายในปัจจุบันนี้มาจากทางกรมศิลปากรได้มาทำการขุดแต่งบูรณะ นำชิ้นส่วนเสาซึ่งล้มกระจัดกระจายมาต่อติดตั้งขึ้นใหม่เท่าที่ทำได้ ส่วนที่ต่อไม่ได้บางส่วนก็นำไปกองไว้ตรงมุมหนึ่งของฐานวิหาร บางส่วนก็ยังคงทิ้งไว้ในตำแหน่งเดิมที่พบ

เสาหินที่โผล่ออกมาจากฐานชุกชี

            นอกเหนือไปจากเรื่องการใช้หินเป็นวัสดุทำเสาของวิหารซึ่งถือว่า“แปลกประหลาด” แตกต่างจากวิหารอื่น ๆ ทั่วไป ปริศนาน่าสนใจอีกประการก็คือร่องรอยของเสาหินบางส่วนที่อยู่ในลักษณะ “ผิดปกติ” ครับ

            เห็นได้ชัดคือตรงฐานชุกชีทางฝั่งทิศเหนือ ปรากฏแป้นหินที่เป็นฐานของเสาและเสาหินสี่เหลี่ยมโผล่ออกมาในลักษณะเอียงกะเท่เร่ ลักษณะเหมือนกับเสาได้ล้มลง แล้วไม่สามารถยกขึ้นได้ ต้องก่ออิฐทับทำเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานเป็นแนวยาวมาติดผนังไปเลย เล็งดูแล้วตัวเสาส่วนที่โผล่ออกมาอยู่ในแนวเดียวกับผนังวิหารพอดี แสดงว่าก่ออิฐซ่อนเสาไว้ในผนัง เมื่อผนังอิฐของวิหารพังทลายลง เสาที่ถูกซ่อนไว้ถึงได้โผล่ออกมาอย่างที่เห็น

องค์พระพุทธรูปปูนปั้นคว่ำอยู่ในซุ้มหลังวิหาร

            แล้วก็ยังมีทางด้านหลังของวิหารที่ได้มีการก่ออิฐทับบนเสาหินสี่เหลี่ยมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของฐานมณฑปหรือซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ซึ่งถูกขุดทะลวงหาสมบัติจนล้มคว่ำหน้าลงมาแตกหักเห็นเป็นซากอยู่ ดูจากขนาดองค์พระแล้วเศียรพระพุทธรูปที่ตั้งบนฐานชุกชีในวิหารก็น่าจะเป็นขององค์นี้แหละครับ เป็นไปได้ว่าพระประธานองค์จริงอาจจะเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ แล้วถูกอัญเชิญไปที่วัดอื่นหรืออัญเชิญลงมากรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามเรื่องราวพงศาวดารว่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปโลหะจากวัดร้างต่าง ๆ ในหัวเมืองทางเหนือลงไปเป็นพระประธานตามวัดในพระนครจำนวนมาก

เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นบนฐานชุกชีในวิหาร

             ด้วยเหตุเรื่องราวของวัดเทิงเสาหินไม่ปรากฏบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ใด ๆ จึงได้มีการสันนิษฐานจากเสาหินที่ปรากฏว่าเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยขอม แต่หากพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรม รวมทั้งการขุดคูน้ำล้อมรอบวัดในรูปแบบของ “เวียงพระธาตุ” แบบล้านนา ซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยพญากือนาธรรมิกราชทรงสร้างวัดสวนดอกถวายให้พระสุมนเถระ อันได้อาราธนาจากนครสุโขทัยมาเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเชียงใหม่  ประกอบกับพุทธศิลป์ของเศียรพระปูนปั้นบนฐานชุกชีในวิหาร ลักษณะศิลปกรรมแบบล้านนาอิทธิพลสุโขทัย วิหารวัดเทิงเสาหินจึงน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือในสมัยล้านนา

ช่วงเวลาดังกล่าวเวียงเทิงก็เป็นเวียงที่อยู่ในเครือข่ายของเมืองพะเยา กำลังนิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายในรูปแบบเฉพาะตัว เรียกว่า “สกุลช่างพะเยา” อยู่พอดี จึงเป็นไปได้อย่างมากที่จะมีการพยายามสร้างวิหารด้วยหินทรายขึ้นมาด้วย นอกเหนือจากการสร้างพระพุทธรูปที่โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์


แป้นหินที่รองรับเสาหินบนฐานวิหาร

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ยังคงต้องรอการค้นคว้าศึกษาจากนักโบราณคดี ให้มาช่วยไขปริศนาว่าด้วย “เสาศิลา” ของวัดเทิงเสาหินอย่างเป็นวิชาการและเป็นทางการอีกทีนึง

แต่ที่จริงแท้แน่นอน รับรองได้ในตอนนี้เลยก็คือ แวะมาเที่ยวชมแล้วไม่เสียเที่ยวแน่นอนครับ

เทียบขนาดเสาหินกับตัวคน (สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ) 

Tuesday, September 26, 2023

มหาธาตุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

 

พระมณฑป สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นประธานของวัด

 ภาคภูมิ น้อยวัฒน์. เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ

                ตามธรรมเนียมแต่โบราณของไทย นครน้อยใหญ่ไม่ว่าแห่งใด ต่างก็ต้องมีวัดมหาธาตุอันประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำเมือง เพื่อเป็นศิริมงคลและศรีสง่าแก่บ้านเมือง

     วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร คือมหาธาตุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมนามว่า “วัดสลัก” เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากหลักฐานแผ่นศิลาจารึกดวงชะตาที่บรรจุไว้บริเวณฐานพระประธาน ระบุว่าสถาปนาวัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๒๘ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  นับถึงวันนี้มีอายุเก่าแก่ถึง  ๓๓๘  ปี 

     เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ วัดสลักเป็นวัดที่คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  ที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในปีพ.ศ. ๒๓๒๖ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดสลัก สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่แล้ว ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นโดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “วัดนิพพานาราม” มีฐานะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

หน้าบันพระวิหาร ประดับด้วยตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ 
         

         ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ภายหลังจากวัดนิพพานารามได้ใช้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามใหม่เป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์”  ก่อนที่ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ จะโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดมหาธาตุ” เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ ณ ภายในพระมณฑป และเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งเพื่อให้เป็นหลักของพระนครในกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา

                ตลอดระยะเวลาอันยาวนานมีการปรับปรุงซ่อมแซมวัดมหาธาตุมาเป็นลำดับ ครั้งใหญ่ ๆ คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๗ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุด้วยการก่ออิฐถือปูนเสนาสนะใหม่ทั้งพระอาราม และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สิ้นพระชนม์ได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการปฎิสังขรณ์ปูชนียสถานสำคัญของวัดมหาธาตุ ได้แก่ พระมณฑป  พระอุโบสถ  และพระวิหาร โดยเฉพาะหน้าบันพระวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนลายประดับเป็นรูปจุลมงกุฎของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”

   

เจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เด่นสง่าภายในบุษบกภายในพระมณฑป 

                 ปูชนียวัตถุสำคัญและมีความงดงามไม่ควรพลาดชมภายในวัดแห่งนี้ คือ พระมณฑป ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเป็นประธานของวัดแต่แรก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร โดยทรงพระราชทานเครื่องไม้สำหรับสร้างปราสาทในวังหน้ามาใช้สร้างพระมณฑป แต่ต่อมาไม่นานเกิดอุบัติเหตุถูกเพลิงไหม้ไปพร้อมกับพระอุโบสถและพระวิหาร  จึงทรงให้สร้างใหม่และปรับเปลี่ยนจากยอดมณฑปเป็นหลังคาทรงโรงอย่างในปัจจุบัน แต่ยังคงเรียก “พระมณฑป”ตามเดิม

                ภายในพระมณฑปมีบุษบกประดิษฐานพระเจดีย์ทองซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นประธาน รายรอบด้วยพระพุทธปฏิมาพุทธลักษณะงดงามถึง  ๒๘  องค์ ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงอัญเชิญมาจากวัดร้างตามเมืองเก่าทางภาคเหนือได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา นำมาประดิษฐานไว้ภายในพระมณฑป

พระศรีสรรเพชญ์พระประธานภายในพระอุโบสถ


บสีมารูปครุฑยุดนาคติดตั้งไว้บนผนังพระอุโบสถ ไม่เหมือนที่อื่น

                พระอุโบสถ เป็นอีกแห่งที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เนื่องจากหลังถูกเพลิงไหม้พระองค์ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ขยายพระอุโบสถออกจนแทบชิดกับพระมณฑป ถึงแนวเขตสีมา จึงต้องยกใบสีมาขึ้นติดบนผนัง พร้อมทั้งทำประตูให้เปิดออกด้านข้าง  สิ่งน่าชมของพระอุโบสถคือพระประธานปางมารวิชัย “พระศรีสรรเพชญ์”  รายล้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งแปดทิศ  หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยเทวดาเหาะด้านละสามองค์ กับลายเทพพนมอยู่เหนือขึ้นไป พื้นเป็นลายใบเทศก้านต่อดอก และใบสีมาจำหลักภาพครุฑยุดนาค ที่ติดตั้งไว้บนผนังอุโบสถ แปลกไม่เหมือนที่อื่น 

ศิลาจารึกดวงชะตาการสร้างวัดบนฐานพระพุทธรุปประธานในวิหาร

พระวิหาร สิ่งน่าชมคือหน้าบันพระวิหารเป็นตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยอักษรย่อ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ.อันมีความหมายว่า เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ ที่จัดทำขึ้นในการบูรณะสมัยรัชกาลที่ ๕  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปห้าองค์  มีพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธาน สิ่งน่าสนใจคือศิลาจารึกดวงชะตาการสร้างวัด เดิมติดอยู่ที่แท่นพระประธานเดิมเมื่อยังเป็นวัดสลัก 

พระปรางค์บรรจุอัฐืของอดีตพระสังฆราช

                พระเจดีย์และพระปรางค์ บริเวณพระระเบียงทางด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ  เป็นที่ตั้งของเจดีย์ด้านละองค์ พระปรางค์ด้านละองค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมทั้งหมดหุ้มด้วยแผ่นดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นำแผ่นดีบุกออก ส่วนพระปรางค์องค์ใหญ่ด้านหน้าพระมณฑปสององค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

     พระวิหารน้อยโพธิลังกา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวช ตั้งอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จพระวันรัต (เขมจารี) เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง ที่ควรชมและสักการะคือ “พระนาก” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถวายให้ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารน้อยนี้

พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  

     พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ประติมากรรมขนาดเท่าครึ่ง ประทับยืนบนเกย พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารน้อยโพธิลังกา ภายในบรรจุเนื้อดินจากแว่นแคว้นที่พระองค์เสด็จกรีธาทัพเข้ายึดครองรวมทั้งสิ้น ๒๘ แห่ง ไว้ใต้ฐาน 

คู่มือนักเดินทาง

     วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมท้องสนามหลวง ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าเข้าชม