Wednesday, September 25, 2019

ธาตุกู่ทองเปือยน้อย อลังการแห่งร่องรอยขอมโบราณเมืองขอนแก่น

 เงางดงามของปราสาทสะท้อนลงบนผืนน้ำ


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ 

          แสงแดดยามเช้าที่สาดส่องลงต้องโบราณสถานตรงหน้า ทำให้ความแปลกใจในสมญาซึ่งเรียกขานกันว่า “กู่ทอง” หมดไป เพราะมันมลังเมลืองดังกับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจากทองจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากภาพเงาสะท้อนในผืนน้ำ ดูช่างงดงามราวกับเทพวิมานล่องลอยในสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า

แท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมเก่าแก่แห่งนี้มิใช่ “กู่” หรือ “เจดีย์” ดังคำเรียกขานแต่ประการใดพียงแต่สภาพปรักหักพังรกร้างจากการผ่านห้วงเวลายาวนาน ผู้คนในยุคหลังที่มาพบเห็นไม่สามารถบ่งบอกแยกแยะว่าคืออะไร  เพียงแต่ความใหญ่โตโอฬารนั้นคาดหมายได้ว่าน่าจะเป็นปูชนียสถานอันสำคัญที่มีแต่โบราณมา จึงเรียกกันว่า “กู่” อันหมายถึง “เจดีย์” พุทธสถานซึ่งพวกตนคุ้นเคยและเลื่อมใสศรัทธา พร้อมทั้งได้สร้างวัดธาตุกู่ทองขึ้นในบริเวณข้างเคียงในปี พ.ศ.๒๔๗๒ เพื่อรักษาความเป็นพุทธสถานสืบสานความศักดิ์สิทธิ์

 กระทั่งกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ จึงพบว่า “กู่ทอง” ที่ชาวบ้านเรียกขานเป็นซากของ “ปราสาท” ซึ่งหลงเหลือร่องรอยมาแต่สมัยขอมโบราณ ก่อนจะดำเนินการขุดแต่งและบูรณะด้วยกรรมวิธี “อนัสติโลซิส” อันหมายถึงเก็บรวบรวมชิ้นส่วนมาปะติดปะต่อแล้วก่อขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยใช้เวลารวม ๓ ปีในช่วงระหว่างปี  พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๗

 ศิลาจำหลักรูปพญานาค


            สิ่งที่ปรากฏชัดเจนต่อสายตาในวันนี้ คือปราสาทขอมโบราณที่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ด้วยเหตุที่ไม่ปรากฏพบหลักฐานศิลาจารึกถึงประวัติความเป็นมา  นอกจากจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต    บรรทัดที่เสากรอบประตูปราสาทประธานกล่าวถึง   “นักบวชมุนีสุวันตยะและฤษีไวศัมปายนะ และการจัดพิธีบูชายัญ” เท่านั้น จึงสมมตินามเรียกกันว่า “ปราสาทเปือยน้อย” ตามชื่อตำบลที่ตั้งอยู่

 ปราสาทอิฐสามหลังบนฐานก่อด้วยศิลาแลง

 รูปแบบสถาปัตยกรรมปราสาทสามหลังก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลงเดียวกัน คือสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่าปราสาทแห่งนี้ในอดีตใช้เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู โดยปราสาทหลังกลางประดิษฐานประติมากรรมเทพองค์สำคัญที่สุด ส่วนปราสาทบริวารสองฟากสำหรับประดิษฐานประติมากรรมเทวีหรือเทพชั้นรองลงมา ตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นที่ตั้งของอาคาร “บรรณาลัย” หรือหอเก็บคัมภีร์อยู่อีกหลังหนึ่ง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า  ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงโดยมีโคปุระหรืออาคารซุ้มประตูอยู่ด้านหน้าและด้านหลังในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก  ล้อมรอบคูน้ำรูปเกือกม้าด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง  ถัดออกไปทางทิศตะวันออกด้านหน้ามีชาลาที่ยกระดับสูงกว่าเบื้องล่างซึ่งเป็นบาราย (สระน้ำ) 
บารายด้านหน้าปราสาท

จากร่องรอยที่ปรากฏ นักโบราณคดีสรุปได้ว่าเทวาลัยแห่งนี้เป็นของ “ไวษณพนิกาย” หรือนิกายที่บูชาพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นเทพสูงสุด  เห็นได้ชัดเจนจากภาพจำหลักในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของปราสาทเป็นเรื่องราวของพระวิษณุแทบทั้งหมด   
รูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏภายในบริเวณปราสาทอยู่ระหว่างสมัยบาปวนกับสมัยนครวัด อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ลักษณะของภาพเล่าเรื่องบนทับหลังส่วนมากเป็นแบบศิลปะบาปวนอย่างชัดเจน คือจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องเต็มพื้นที่ด้วยภาพบุคคลขนาดใหญ่ ตามความนิยมของช่างสมัยนั้น
 ภาพจำหลักวิษณุบรรทมสินธุ์บนทับหลังปราสาทประธาน

ประติมากรรมชิ้นงามอันดับหนึ่งที่ควรชม คือทับหลังวิษณุบรรทมสินธุ์ หรือ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ” บนปราสาทประธานหลังกลาง อันถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุด แกะสลักเป็นภาพของพระวิษณุบรรทมเหนือพระแท่นอนันตนาคราชใต้เกษียรสมุทร ภายหลังจากการทำลายโลก พระหัตถ์ขวาบนหนุนพระเศียร พระหัตถ์ขวาล่างถือคทา  พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์ และพระหัตถ์ซ้ายล่างถือจักร โดยมีพระลักษมีประทับนั่งปรนนิบัติตรงปลายพระบาท บริเวณพระนาภี (หน้าท้อง) ของพระวิษณุ จำหลักเป็นดอกบัวผุดขึ้นมาพร้อมกับรูปพระพรหมขนาดเล็ก ซึ่งตามตำนานในคัมภีร์ศาสนาฮินดูพระพรหมจะเป็นผู้สร้างโลกขึ้นมาใหม่              
 รูปจำหลักคชลักษมีบนทับหลัง
 
ส่วนทับหลังชิ้นอื่น ๆ ลักษณะงดงามตามมาตรฐานศิลปะแบบบาปวน คือส่วนใหญ่แกะเป็นหน้ากาลหรือเกียรติมุขไว้ล่างสุดของทับหลัง โดยหน้ากาลมีแขนสองข้าง แลบลิ้นรูปสามเหลี่ยมคายท่อนพวงมาลัยออกมาม้วนขึ้นด้านบนและม้วนลงด้านล่างทั้งสองข้างซ้ายขวา ด้านบนท่อนพวงมาลัยมีใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยมีใบไม้ห้อยตกลง เหนือหน้ากาลแกะเป็นรูปบุคคลนั่ง บางครั้งแกะเป็นรูปบุคคลทรงช้างเอราวัณ อันหมายถึงพระอินทร์ ซึ่งนอกจากเป็นเทพประจำทิศตะวันออกแล้ว ยังเป็นเทพแห่งพายุฝนด้วย ถือเป็นเทพองค์สำคัญของสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศในการเพาะปลูก ในศิลปะแบบบาปวนจึงปรากฏรูปพระอินทร์ทั้งบนทับหลังและหน้าบันโดยทั่วไป โดยไม่จำเป็นว่าทับหลังหรือหน้าบันนั้นจะต้องอยู่ทางทิศตะวันออกเท่านั้น ทับหลังที่ลักษณะแปลกออกไปอีกชิ้นคือทับหลังคชลักษมี เหนือกรอบประตูด้านหลังของปราสาทบริวารทิศเหนือ
 พระวิษณุทรงครุฑและพระกฤษณะแสดงให้เห็นว่าอยู่ในไวษณพนิกาย

ภาพจำหลักบนหน้าบันก็เช่นเดียวกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบบาปวนแท้ ๆ  ประกอบด้วยกรอบคดโค้ง ภายในกรอบแกะสลักเป็นลายก้านขดหันหัวลง มีหน้ากาลทางด้านล่างสุดของหน้าบัน หน้ากาลนี้แลบลิ้นสามเหลี่ยมและมีแขนสองข้าง คายลายพันธุ์พฤกษาออกมาจากปากจนเต็มพื้นที่ ชิ้นที่เด่นสุดคือหน้าบันรูปพระวิษณุทรงครุฑเหนือซุ้มประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ โคปุระตะวันออกอันเป็นด้านหน้าของปราสาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความเป็นเทวาลัย “ไวษณพนิกาย”
 บรรณาลัยยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

ในส่วนของบรรณาลัยก็อยู่ในรูปแบบศิลปะบาปวน ด้วยผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า จึงมีหน้าบันทับหลังซ้อนกันอยู่สองชั้น
และเนื่องจากพบว่าปรากฏช่องสำหรับสอดใส่ขื่อไม้รองรับกระเบื้องหลังคาบริเวณหน้าบันด้วย จึงทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นภาพได้ว่าบรรณาลัยหลังนี้เคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมาก่อน  จุดสำคัญที่น่าชมคือ หน้าบันอุมามเหศวร อันเป็นภาพพระศิวะประคองพระอุมาประทับนั่งอยู่บนโคนนทิ ซึ่งช่างในศิลปะบาปวนนิยมอย่างมาก เด่นสง่าอยู่บนหน้าบันด้านหลังของบรรณาลัย
การแกะสลักตกแต่งปราสาทพบว่าหลายส่วนยังค้างคาอยู่ไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะในส่วนที่อยู่ด้านหลังปราสาท เช่น ทับหลัง ประตูหลอก และหน้าบันด้านฝั่งตะวันตกของปราสาทประธาน สะท้อนให้เห็นรูปแบบการทำงานของช่างโบราณที่นิยมแกะสลักตกแต่งด้านหน้าให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยแกะสลักด้านหลัง ปราสาทขอมส่วนใหญ่จึงมักเหลือร่องรอยงานแกะสลักหินที่ยังไม่เสร็จอยู่ด้านหลังเสมอ
 อาคารโคปุระ เห็นความแตกต่างของการเลือกใช้วัสดุชัดเจน

           สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือเทคนิคและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาท ลักษณะพื้นเมืองสำคัญของสถาปัตยกรรมขอมในประเทศไทยคือการใช้วัสดุหลายประเภทผสมผสานกันได้อย่างเหมาะสม ที่ปราสาทเปือยน้อยนี้จะเห็นได้ชัดเจนคือตัวปราสาทใช้อิฐในการก่อ แต่ส่วนหน้าบัน ทับหลัง และเสากรอบประตู เลือกใช้หินทรายเนื่องจากต้องแกะสลักลวดลายประดับตกแต่ง  และในส่วนที่ไม่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีความประณีตมากอย่างเช่น ฐานไพที ส่วนฐาน ส่วนผนังของบรรณาลัยและโคปุระ จะเลือกใช้ศิลาแลงก่อแทน
 
 ปราสาทประธานของกู่ประภาชัย
ในเขตจังหวัดขอนแก่นยังมีปราสาทแบบขอมที่น่าสนใจอีกสองแห่งคือ “กู่แก้ว” และ “กู่ประภาชัย”  ไม่ได้เป็นเทวาลัยเหมือนกับปราสาทเปือยน้อย หากแต่เป็นเป็นศาสนสถานขนาดเล็กของพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระไภสัชไชยคุรุไวทูรยประภา พระพุทธรูปประจำสถานพยาบาลรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชน เรียกว่า "อโรคยาศาล” ที่มีอยู่ทั่วราชอาณาจักรรวม ๑๐๒ แห่ง
สถาปัตยกรรมปราสาทประจำอโรคยาศาลมีรูปแบบตายตัวเหมือนกันหมดทุกแห่ง กล่าวคือประกอบด้วย องค์ปรางค์ประธาน  บรรณาลัย ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยทั้งหมดมักก่อด้วยศิลาแลง มีเพียงส่วนหน้าบัน ทับหลัง และกรอบประตูของปราสาทและโคปุระเท่านั้นที่ทำจากหินทรายแกะสลัก ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นที่ตั้งของ "บาราย" (สระน้ำ)
 ปราสาทกู่แก้วสภาพค่อนข้างชำรุด

สภาพปัจจุบันของกู่ประภาชัยได้รับการบูรณะแล้ว มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และบารายของกู่ประภาชัยยังได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ ที่ผ่านมา ในขณะที่กู่แก้วได้รับการบูรณะขุดแต่งแล้วเช่นกัน แต่ตัวปราสาทประธานมีสภาพปรักหักพังมากกว่า หลงเหลือเพียงส่วนฐาน อย่างไรก็ตามได้มีการจัดสร้างอาคารสำหรับเก็บชิ้นส่วนต่าง ๆ ไว้ทางเหนือของปราสาท พร้อมป้ายข้อมูลสำหรับผู้สนใจ สามารถเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
 ส่วนประกอบต่าง ๆ ของปราสาทจัดเก็บไว้ริมกำแพง


 ชิ้นส่วนยอดปราสาทของกู่แก้ว

คู่มือนักเดินทาง
ปราสาทเปือยน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย  จังหวัดขอนแก่น จากจังหวัดขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง ๔๔ กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓ (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก ๒๔ กิโลเมตร

กู่ประภาชัย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๙  หลังจากนั้นตรงไปจนถึงคลองชลประทาน เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองฯ แยกขวาระหว่างกิโลเมตรที่ ๒๖-๒๗  ข้ามคลองส่งน้ำ เข้าบ้านนาคำน้อยอีก ๕๐๐ เมตร ถึงวัดกู่ประภาชัย ปราสาทตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด

กู่แก้ว บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒ ไปทางอำเภอบ้านฝาง ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ถึงสี่แยกฉางข้าวเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๒ ไปประมาณ ๗ กิโลเมตร ข้ามคลองห้วยหัวหินไปถึงสี่แยกบ้านเหล่านาดี เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านหว้า บ้านเหล่าโพนทอง ไปประมาณ ๗๕๐ เมตร  เลี้ยวขวาที่ทางแยก ตรงไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ถึงวัดกู่แก้วสามัคคี ปราสาทตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด

บารายของกู่แก้ว