![]() |
พระพุทธมงคลนิมิตต์ ปางประทับเรือขนาน ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย |
ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓
เอ่ยถึงจังหวัดชลบุรีน้อยครั้งที่จะมีคนพูดถึงในแง่มุมของแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีประวัติศาสตร์
ส่วนใหญ่จะไปพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลกันเสียมากกว่า
ทั้งที่ในด้านประวัติความเป็นมานั้นดินแดนแถบนี้ความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตกาลกว่าพันปี
ย้อนหลังไปได้ถึงสมัยทวารวดีอันเป็นต้นยุคประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยปรากฏร่องรอยของเมืองโบราณในสมัยนี้ถึง ๓ เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองศรีพโล เมืองพระรถ
และเมืองพญาเร่
![]() |
ทิวทัศน์จากวิหารพระนอน บนยอดเขาของวัดเขาบางทราย |
เมืองศรีพโล ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาบางทราย อำเภอเมืองฯ เป็นเมืองท่าชายทะเลสมัยทวารวดีที่สำเภาบรรทุกสินค้าจากจีน
เวียดนาม และกัมพูชา มาจอดแวะพัก ก่อนเดินทางต่อไปยังปากน้ำเจ้าพระยา ล่วงมาถึงสมัยอยุธยาเกิดสันดอนปากแม่น้ำจากตะกอนที่น้ำพัดพามาสะสม
เมืองศรีพโลจึงต้องถูกทิ้งร้าง แล้วย้ายถิ่นฐานลงมาสร้างเมืองใหม่บริเวณ “บางปลาสร้อย” อันเป็นที่ตั้งของเมืองชลบุรีในปัจจุบัน
![]() |
โบราณวัดถุที่เก็บไว้ที่วัดศรีพโลทัย |
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ยังปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและกำแพงเมืองศรีพโลอยู่
ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยกำแพงดินสูงจากพื้นประมาณ ๓ เมตร
ไม่มีคูน้ำรอบเมืองเนื่องจากตัวเมืองตั้งอยู่บนเนินเขาสูง น่าเสียดายที่ทั้งหมดถูกทำลายลงจากการตัดถนนสุขุมวิทในปี
พ.ศ. ๒๔๙๓ หลงเหลือหลักฐานความรุ่งเรืองเพียงโบราณวัตถุจำนวนมากจากหลากยุคหลายสมัย
เช่น ขวานหินขัด กำไลสำริด เต้าปูนสำริด เศษหม้อทะนนมีลวดลาย ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง
พระพุทธรูปเนื้อชินปางลีลา แม่พิมพ์พระพุทธรูปดินเผาแบบอู่ทอง ตุ๊กตาเคลือบ กระปุกถ้วยชามเคลือบแบบสังคโลก
กระเบื้องเชิงชายรูปเทพพนมในซุ้มเรือนแก้วแบบอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในศาลาประจักษ์ราษฎร์สามัคคีภายในวัดศรีพโลทัย
![]() |
สถาปัตยกรรมภายในวัดเขาบางทราย พระอารามหลวง |
แม้ร่องรอยในสมัยทวารวดีของเมืองศรีพโลจะไม่หลงเหลือให้ดูชมเท่าไหร่ ทว่าในบริเวณเขาบางทรายใกล้เคียงพื้นที่เมืองศรีพโล ยังมีวัดเขาบางทราย พระอารามหลวง อันมีประวัติว่าเคยเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่รกร้างผุพังไป ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นวัดขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
![]() |
มณฑปพระพุทธบาทและวิหารพระนอน |
![]() |
พระพุทธไสยาสน์ตะแคงซ้ายภายในวิหาร |
ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมอันงดงามหลายแห่งควรค่าแก่การแวะชม ที่น่าสนใจคือบนยอดเขาภายในบริเวณวัดซึ่งสามารถชมทิวทัศน์ท้องทะเลและสะพานชลมารควิถี ๘๔ พรรษาได้กว้างไกล เป็นที่ตั้งของมณฑปพระพุทธบาทและวิหารพระนอน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะแปลก คือประทับไสยาสน์ตะแคงซ้าย คล้ายกับพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าประดู่ที่จังหวัดระยอง
![]() |
พระพุทธมงคลนิมิตต์ วัดธรรมนิมิตต์ |
ระหว่างทางที่วัดธรรมนิมิตต์ ก็เป็นอีกแห่งที่น่าแวะเข้าไปเยี่ยมชม เนื่องจากตรงหน้าทางขึ้นไปยังจุดชมทิวทัศน์เมืองชลบุรีบนยอดเขาของวัด ประดิษฐานพระพุทธรูปคอนกรีตประดับด้วยกระเบื้องโมเสกขนาดมหึมาสูงถึง ๓๔ เมตรนามว่าพระพุทธมงคลนิมิตต์ ตามประวัติว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ก่อนจะพังทลายลงครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ทางวัดจึงสร้างองค์ปัจจุบันขึ้นแทน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ถึงแม้ไม่ใช่พระพุทธรุปที่โบราณเก่าแก่
ทว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นปางที่หาดูชมได้ยาก (อาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์เดียวของประเทศไทย
สำหรับปางนี้ ที่มีขนาดใหญ่โต) ผู้ออกแบบคือศาสตราจารย์
(พิเศษ) ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปีประจำปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ออกแบบพุทธลักษณะตามพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่งที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร คือ “ปางประทับเรือขนาน” อิริยาบถประทับนั่งบนบัลลังก์
ห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระองค์ แสดงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนพระเจ้ามหาลิแห่งกรุงเวสาลีทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จจากเวฬุวนารามไปทรงระงับโรคระบาดและภัยพิบัติต่าง
ๆ ในเมืองเวสาลี ครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จพระราชดำเนินไปถึงแม่น้ำคงคา
แล้วประทับเรือขนานไปยังเมืองเวสาลี
สถาปัตยกรรมในวัดใหญ่อินทาราม |
ในพื้นที่ของเมืองบางปลาสร้อยในสมัยอยุธยา
หรืออำเภอเมืองชลบุรีในปัจจุบัน วัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง คือจุดหมายอีกแห่งที่มีศิลปกรรมน่าชม
มีตำนานเล่าถึงความเป็นมาของวัดเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้น โดยกล่าวถึง “พระนครอินทร์”
หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา
เสด็จประพาสเมืองบางปลาสร้อยโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทอดพระเนตรทิวทัศน์แมกไม้ชายทะเลอันเงียบสงบ
จึงทรงเกิดพระราชศรัทธาได้สร้างวัดขึ้นมา พระราชทานนามว่า "วัดอินทาราม"
ตามพระนามเดิมของพระองค์
หน้าบันประดับถ้วยกระเบื้องเคลือบจีน |
แต่จากลักษณะสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ
แสดงให้เห็นว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยอุโบสถฐานแอ่นโค้งเป็นท้องสำเภาต่อพาไลเป็นหลังคายื่นออกมา
รองรับด้วยเสาด้านหน้า หลังคากระเบื้องกาบกล้วยดินเผาเคลือบประดับใบระกาหางหงส์ทำซ้อนกันสองชั้น
ช่อฟ้ารูปเทพนมหันหน้าออกทั้งสองด้าน ผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ที่น่าจะมาจากการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต่อมา หน้าบันทั้งด้านหน้าและหลังของโบสถ์จึงปั้นลายปูนปั้นช่อชั้นพรรณบุปผา
ใช้ถ้วยกระเบื้องเคลือบจีนมาประดับ
เช่นเดียวกับกรอบประตูหน้าต่าง อันเป็นความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังมีบานประตูประดับมุก ๔ ช่องประตูด้านทิศตะวันออกเป็นลายประดับมุกฝีมือประณีตงดงาม
ภายในวงกลมแสดงเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” แสดงการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเขียนเป็นภาพขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๖ ทรงพอพระทัยมาก พระราชพรหมาจารย์ (จำรัส ภทฺโท)
เจ้าอาวาสวัดใหญ่อินทารามจึงได้ให้นายช่างประดับมุกจำลองภาพดังกล่าวมาไว้ในลายประดับมุกบนบานประตู
![]() |
พระประธานและพระพุทธรูปหมู่ในพระอุโบสถ |
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานพร้อมหมู่พระพุทธรูปรวม
๒๔ องค์ รูปแบบศิลปกรรมบางองค์เป็นศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา
บางองค์เป็นศิลปกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ บนเพดานเขียนลายดาวเพดานบนพื้นสีแดง
บนขื่อเขียนลายคล้ายลายผ้าโบราณ เสาหกคู่ที่รองรับขื่อทุกต้นเขียนลายทอง
ความน่าสนใจอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น
“จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย” งานศิลปกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๓ และการเขียนซ่อมบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ภาพดั้งเดิมยังคงรูปแบบจิตรกรรมประเพณีนิยม
คือวาดแบบสองมิติ ไม่มีแสงเงา อิริยาบถผู้คนแสดงออกด้วยนาฏลักษณ์ท่วงท่าการรำ
ส่วนภาพที่เขียนซ่อมบูรณะมีทัศนมิติความลึกและมีแสงเงาในลักษณะสมจริงมากขึ้นตามอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก
![]() |
เทพชุมนุมบนผนังสองฟากฝั่ง |
เนื้อหาจิตรกรรมในพระอุโบสถทั้งสองฟากผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเล่าเรื่องทศชาติชาดก
ตอนบน เรียงรายด้วยภาพเทพชุมนุมสามชั้น ผนังตรงข้ามพระประธานวาดภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ
ตอนล่างเป็นภาพหน้ากาลคาบพญานาค ๒ ตัว ในลักษณะเป็นปริศนาธรรม ผนังด้านหลังพระประธานวาดเรื่องไตรภูมิ
สวยแปลกตาด้วยแผนภูมิจักรวาล สรวงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ปลาอานนท์หนุนโลกอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ทิวทัศน์ป่าหิมพานต์
![]() |
จิตรกรรมตอนมารผจญบนผนังหน้าพระประธาน |
![]() |
ปลาอานนท์หนุนเขาพระสุเมรุ |
![]() |
นรกภูมิอันน่าสยดสยอง |
ส่วนล่างของผนังเป็นนรกภูมิกับการลงทัณฑ์อันน่าสยดสยอง
ความสนุกของการชมจิตรกรรมอยู่ที่รายละเอียดเล็ก
ๆ น้อย ๆ ที่สอดแทรกอยู่
ต้องใช้เวลาในการชมมากพอสมควร สำหรับผู้ที่ชื่นชอบจริงจังอาจใช้เวลาชมได้ทั้งวัน
(โดยปกติพระอุโบสถจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันพระ
ผู้จะเข้าเยี่ยมชมควรขออนุญาตเจ้าอาวาสก่อน)
![]() |
ฐานสถูปก่ออิฐขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ที่เมืองพระรถ |
เมืองโบราณทวารวดีอีกแห่ง อยุ่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ
อำเภอพนัสนิคม คือเมืองพระรถ เมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองสมัยทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี
อายุประมาณ ๑,๕๐๐ปี ถึง ๗๐๐ ปีก่อน ชื่อ
“เมืองพระรถ” ไม่ใช่ชื่อที่แท้จริง เพราะเป็นชื่อที่ชาวลาวที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งขึ้นตามนิทานพระรถ-เมรี
อันมีที่มาจาก “รถเสนชาดก” ในคัมภีร์ปัญญาสชาดกของพุทธศาสนา
เพื่ออธิบายถึงความเป็นมาโบราณสถานต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่
![]() |
ประติมากรรมพระรถเมรีบนเนินพระธาตุ |
ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม
มีลำน้ำหลายสายไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำพานทอง เมืองพระรถจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายในสมัยทวารวดี
โดยใช้แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางติดต่อกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี เมืองพระรถเป็นเมืองโบราณเก่าแก่กว่าเมืองศรีพโลเล็กน้อยและมีความสัมพันธ์กัน
ดังปรากฏหลักฐานถนนโบราณระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเชื่อมต่อสองระหว่างเมืองนี้ ทั้งยังมีเส้นทางเดินเท้าผ่านเมืองพญาเร่ไปยังพื้นที่ในแถบจังหวัดระยองและจันทบุรีได้อีกด้วย
ผังเมืองพระรถ เป็นรูปสี่ เหลี่ยมผืนผ้า
พื้นที่ประมาณ ๑.๓ ตารางกิโลเมตร กําแพงเมืองเป็นคันดินสองชั้นสูงจากพื้นดินประมาณ
๑ เมตรเศษ ห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร คูเมืองกว้างประมาณ
๑.๕ เมตร ปัจจุบันถนนสายพนัสนิคมฉะเชิงเทราตัดทับไปบนส่วนหนึ่งของกําแพงและคูเมืองพระรถด้านทิศตะวันออก
![]() |
ศาลที่ชาวบ้านสร้างขึ้นบนเนินพระธาตุ |
ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ให้เห็นคือเนินพระธาตุ โบราณสถานนอกกําแพงเมืองตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
บนเนินดินกว้างประมาณ ๓๒ เมตร สูงจากพื้นทุ่งนาโดยรอบประมาณ ๔ เมตร
เป็นที่ตั้งของฐานพระสถูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่แบบทวารวดี กว้างประมาณ ๑๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๓ เมตร เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เอกชนเจ้าของที่ดินได้ก่อสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสำหรับเก็บกระดูกบรรพบุรุษทับลงบนฐานเจดีย์โบราณดังที่เห็นปรากฏอยู่
ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลประดิษฐานพระพุทธรูปและประติมากรรมพระรถ
ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าให้โชคลาภแม่นยำนัก นอกจากนี้ยังมีศาลพระรถเสน
ศาลเจ้าพ่อดำใหญ่ ศาลปู่ทวด และศาลเจ้าแม่ตะเคียน เรียงรายให้สักการะด้วย
![]() |
พระพนัสบดีซึ่งขุดพบที่เมืองพระรถ |
ในบริเวณเมืองพระรถนี้เคยขุดพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ
“พระพนัสบดี” พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อายุประมาณ ๑,๓๐๐-๑,๒๐๐ ปี จำหลักจากศิลาดำเนื้อละเอียด ปางประทับยืนบนดอกบัวยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ
จีบพระหัตถ์ มีลายธรรมจักรบนฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง เบื้องพระปฤษฎางค์เป็นประภามณฑล ทรงสถิตเหนือสัตว์พาหนะในจินตนาการ หน้าเป็นครุฑ
เขาเป็นโค ปีกเป็นหงส์ สื่อถึงพาหนะของเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาฮินดู
เรียกชื่อว่า “พนัสบดี” โดยพระพนัสบดีที่พบ ณ เมืองพระรถได้ชื่อว่างดงามที่สุดในบรรดาพระพนัสบดีหลายองค์ที่พบในประเทศไทย
![]() |
โบราณสถานสระสี่เหลี่ยม |
ห่างจากเมืองพระรถไม่ไกล
สระสี่เหลี่ยม คือโบราณสถานอีกแห่งในสมัยทวารวดี ตัวสระเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ
๑๐ เมตร และลึกประมาณ ๓.๕ เมตร ขุดตัดศิลาแลงเป็นหน้าเรียบลึกลงไปแนวดิ่งได้มุมฉากทั้งสี่ด้าน
ราวกับใช้เครื่องจักรตัด ทางด้านทิศตะวันตกมีบันไดหินลงไป ๑๒ ขั้นเป็นแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติที่ใช้ในชุมชนโบราณสมัยทวารวดี
![]() |
ปลาในสระสี่เหลี่ยม |
ชาวบ้านเรียกว่า “สระพระรถ” เพราะเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ให้น้ำไก่ของพระรถเสนเมื่อครั้งเป็นเด็กวัยรุ่นออกมาตีไก่กับชาวบ้านเพื่อพนันเอาข้าวไปเลี้ยงแม่และป้า
ปัจจุบันมีผู้บริจาคที่ดินเพิ่มสำหรับจัดวางประติมากรรม“พระรถอุ้มไก่”
หล่อด้วยโลหะ พร้อมสร้างบุษบกครอบไว้ริมสระด้านทิศตะวันออก
ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากรูปปั้นไก่ชนมาแก้บนมากมายทั่วบริเวณ
ในสระยังมีผู้นำพันธุ์ปลานิลและปลาสวายมาเลี้ยงไว้ให้ว่ายเวียนดูมีชีวิตชีวา
![]() |
อุโบสถหลังเก่าของวัดโบสถ์ มีหน้าจั่วสองชั้น |
ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ยังมีวัดโบสถ์
ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมน่าจะอยู่ในช่วงอยุธยาตอนปลาย เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้คนจำนวนมากได้อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานหากินที่ใหม่ในบริเวณนี้ ความน่าสนใจของวัดโบสถ์อยู่ที่สถาปัตยกรรมของอุโบสถ
ที่มีจั่วซ้อนกันสองชั้นเป็นรูปแบบที่แปลกจากทั่วไป และหลวงพ่อโต
พระประธานสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปกรรมสุโขทัยผสมอู่ทอง
ที่อัญเชิญมาประดิษฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒
(ปัจจุบันย้ายไปประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่)
ภายในอุโบสถเก่าเคยมีจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปหมดแล้ว
คงหลงเหลือภาพจิตรกรรมที่น่าจะร่วมสมัยกันอยู่บนผนังศาลาการเปรียญไม้หลังเก่าอายุร้อยกว่าปี
เชื่อว่าวัดนี้เคยใช้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของไพร่พลภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่า
ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแวะมาพักทัพที่วัดนี้ระหว่างเดินทางไปตีเมืองจันทบุรี
![]() |
บริเวณที่เคยเป็นแนวกำแพงเมืองพญาเร่ในปัจจุบัน |
ส่วนตามความเชื่อชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเมืองคชปุระของนางยักษ์สันธมาร
เนื่องจากตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาเหมือนกับในนิทานเรื่องพระรถเมรี ปัจจุบันบริเวณเมืองพญาเร่ชาวบ้านครอบครองพื้นที่ใช้ทำการเกษตร
สอบถามจากร้านของชำที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ได้ความว่าร่องรอยคูเมืองและคันดินแนวกำแพงที่เคยเหลืออยู่ถูกทำลายไปหมดแล้ว
![]() |
เจ้าพ่อพญาเร่ วีรบุรุษแห่งบ่อทอง |
ในพื้นที่ชาวบ้านได้สร้างศาลเล็ก
ๆ ขึ้นไว้สักการบูชาเจ้าพ่อพญาเร่
ซึ่งตามประวัติว่าเป็นทหารเข้าร่วมรบกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเดินทัพไปตีเมืองจันทบุรี
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์และตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรขึ้นเป็นราชธานี
เจ้าพ่อพญาเร่ได้กลับมาค้นหาทองคำในบริเวณคูเมืองพญาเร่ซึ่งบริเวณนี้มีทองคำมากจนได้ชื่อว่า
“บ่อทอง” แล้วลำเลียงทองคำทางแพผ่านคลองหลวงเพื่อไปร่วมสมทบในการสร้างกรุงธนบุรี
![]() |
ศาลเจ้าพ่อพญาเร่ภายในโรงเรียนอนุบาลบ่อทอง |
ปี ๒๕๓๙ นายอำเภอบ่อทองในขณะนั้นได้รวบรวมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา
พ่อค้า ประชาชน ชาวบ่อทอง หล่อรูปพญาเร่แล้วสร้างศาลใหม่ อัญเชิญ ขึ้นประดิษฐานที่ในบริเวณโรงเรียนอนุบาลบ่อทอง
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐
คู่มือนักเดินทาง
วัดเขาบางทราย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๑ หมู่ ๖ ถนนสุขุมวิท ตำบลบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี
จังหวัดชลบุรี เปิดให้เข้าชม ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา
ไม่เสียค่าเข้าชม จากกรุงเทพฯ
ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) ก่อนถึงตัวจังหวัดชลบุรีประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อผ่านสามแยก บขส.
ชลบุรีชิดซ้ายเลี้ยวเข้าหน้าวัดเข้าไปในวัด มีถนนเล็ก ๆ ผ่านวัดและโรงเรียน
ขึ้นเขาไปถึงจุดชมทิวทัศน์ ระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตรเป็นถนนลาดยางไม่ชันมาก หรือเดินขึ้นทางบันไดประมาณ
๑,๐๐๐ขั้น
วัดธรรมนิมิตต์
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสวน บนถนนสายชลบุรี-พนัสนิคม ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร
จากวัดเขาบางทรายมาตามทางหลวงหมายเลข ๓ ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑
ไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ
วัดใหญ่อินทาราม ตั้งอยู่เลขที่ ที่
๘๕๘ ถนนเจตน์จำนงค์ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง
จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ ๐ ๓๘๒๗
๕๘๔๔ ๐ ๓๘๒๘ ๓๒๖๔ เวลาเปิด ๐๘.๐๐ -๑๗.๐๐ นาฬิกา
ไม่เสียค่าเข้าชม รถยนต์ส่วนตัว เริ่มที่ตัวเมืองชลบุรี จากสี่แยกเฉลิมไทย
(เฉลิมไทยชอปปิ้งมอลล์) ใช้ถนนโพธิ์ทอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจตน์จำนง วัดอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงสี่แยกท่าเกวียน
มีลานจอดรถที่หน้าวัด หรือใช้รถประจำทางสายรอบตัวเมืองชลบุรีไปลงหน้าวัด ควรไปเที่ยวชมในวันพระ
หากเป็นวันธรรมดา ต้องติดต่อขออนุญาตที่เจ้าอาวาส ทางวัดมีพระนักวิชาการช่วยนำชมและอธิบายให้ความรู้ด้วย
เมืองพระรถ ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ
๒ กิโลเมตร จากตัวอำเภอพนัสนิคมตรงไปตาม ถนนสุขประยูร
ซึ่งจะไปต่อกับทางหลวงหมายเลข ๓๑๕ (ถนนพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา)
ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร จากตัวอำเภอ ถัดจากหลักกิโลเมตรที่ ๒๗ จะมีทางแยกซ้ายเข้าวัดหน้าพระธาตุ
เลี้ยวซ้ายและตรงเข้าไปตามทางอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ถึงเมืองพระรถ
วัดโบสถ์
ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จากสี่แยกพนัสนิคมไปตามถนนสุขประยูร ไปต่อกับทางหลวงหมายเลข
๓๑๕ (ถนนพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา) ประมาณ ๖ กม. จะเห็นทางเข้าวัดอยู่ซ้ายมือ
สระสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลสระสี่เหลี่ยม
อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๑๕
(พนัสนิคม – ฉะเชิงเทรา) ประมาณ ๘ กิโลเมตร
ถึงคลองชลประทาน เลี้ยวขวาไปตามถนนชลประทานอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ถึงโบราณสถานสระสี่เหลี่ยม
ศาลเจ้าพ่อพญาเร่ ตั้งอยู่ใน โรงเรียนอนุบาลบ่อทอง หมู่ที่ ๑ ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จากตำบลสระสี่เหลี่ยม ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๓๑ มาเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๓๔๐ ระยะทางประมาณ ๕๔ กิโลเมตร ถึงศาลเจ้าพ่อพญาเร่