Thursday, April 29, 2021

ชมจิตรกรรมงามล้ำในอุโบสถขาว วัดสว่างอารมณ์ (วัดเฉวง เกาะสมุย)



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะ เสาวนีย์ สมบูรณ์...ชวนชม 

 ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. เมษายน ๒๕๖๔

     “บริเวณนี้เรียกว่า “เฉวง” มีความหมายว่าสว่าง เป็นคำที่คนท้องถิ่นเรียกขานกันมาตั้งแต่เมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อน”

     พระครูวิสุทธิปัญญาคม (โอวาท ปัญญาโสภโน) รองเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ รักษาการแทนเจ้าอาวาส บอกเล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่ตั้งของวัดสว่างอารมณ์ หรือวัดเฉวง เกาะสมุยซึ่งในวันนี้แลดูสว่างไสวสมชื่อ ด้วยอุโบสถหลังใหม่สีขาวสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์เด่นตระหง่านสะดุดตาท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้โดยรอบ 

     “ที่ต้องเป็นสีขาวเนื่องจากเป็นความประสงค์ของท่านเจ้าอาวาส” ท่านหมายถึงพระครูประภาตธรรมคุณ (พระครูสงัด สุธรรมโม) เจ้าอาวาสวัดซึ่งเป็นผู้สร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ขึ้น “ท่านได้ขอซื้อที่ดินของชาวบ้านบริเวณข้างเคียงเพิ่มเติมจำนวน ๑๒ ไร่ แล้วสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่ออกแบบโดย ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ใช้เวลาสร้างอาคารโบสถ์พร้อมพระประธานปางมารวิชัย ประมาณ ๑ ปีกว่า ๆ ก็แล้วเสร็จ ใช้งบประมาณ ๔๐ กว่าล้านบาท แต่ยังไม่ทันได้ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ท่านเจ้าอาวาสที่อาพาธอยู่ก็มรณภาพเสียก่อนเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙”
    เมื่อความงดงามของสถาปัตยกรรมภายนอกอุโบสถดึงดูดใจให้คนมาเข้าวัดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนที่เข้ามาอยู่ในวัดได้นานขึ้น คือจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถที่งดงามและบอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา “สมเด็จพระสังฆราชท่านเคยรับสั่งไว้ว่าโบสถ์ต้องเปิดไว้ทุกวัน ญาติโยมจะได้เข้ามากราบพระ วัดต่างจังหวัดพระน้อย บางวันคนเข้าวัดมาไม่ได้เจอพระ เพราะฉะนั้นโบสถ์เป็นที่พึ่งทางใจ ทีนี้อาตมาสังเกตคนมาไหว้พระเข้ามาประมาณไม่เกินสองนาทีก็ออกไป ยกเว้นวันที่มีพิธีกรรม มีการสวดมนต์ ถึงจะอยู่นาน เลยคิดว่าทำยังไงให้คนอยู่ในโบสถ์นาน ๆ จะเอาอะไรจูงใจญาติโยม รวมทั้งเด็ก ๆ ที่เขามาในโบสถ์ ให้มีความตั้งใจอยากจะศึกษาธรรมะ จึงคิดให้วาดภาพจิตรกรรมขึ้นบอกเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนา เพราะอาตมาอาจจะไม่ได้มีโอกาสเทศน์สอนญาติโยมเอง ไม่ได้พูดคุยกับทุกคนที่เข้ามา... ”



    ภายในอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๙ นิ้วเป็นประธานบนผนังจึงตระการตาด้วยภาพจิตรกรรมอันงดงาม ด้วยฝีมือของนายช่างเกรียงไกร เมืองมูล จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่นำเอาลูกศิษย์มาเป็นผู้ช่วย ใช้เวลาในการรังสรรค์ผลงานทั้งสิ้นประมาณ ๒ ปีครึ่งจึงสำเร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา 

     “อาตมาเป็นคนกำหนดเองว่าอยากได้แบบนี้ทั้งหมด อยากได้จิตรกรรมแบบวัดเก่า ๆ ศิลปะแบบอยุธยา ด้านหลังเป็นไตรภูมิ ด้านหน้าเป็นภาพผจญมาร รอบ ๆ เป็นชาดกพระเจ้า ๑๐ ชาติ ไม่เอาแบบรัตนโกสินทร์ที่สวยเป๊ะเหมือนกันหมด ไม่เอาตามใจช่าง เรื่องสีทางวัดเป็นคนกำหนดเอง ไม่ชอบสีสด ๆ ที่ดูเหมือนฉากลิเก ก็เลยเลือกใช้สีที่ดูสบายตาและแปลกไม่เหมือนที่อื่น ๆ อันไหนไม่ถูกใจก็ให้แก้ แก้กันจนช่างรำคาญเลย” 



     จิตรกรรมที่ปรากฏจึงเป็นการคัดสรรความงดงามจากศิลปกรรมในอดีตมาผสมผสานกันอย่างลงตัว เริ่มจากด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนเล่าเรื่องราวไตรภูมิตามความเชื่อทางพุทธศาสนาไว้โดยสังเชป ไล่ลงมาจากด้านบน เหนือเส้นสินเทาเป็นพรหมโลก ในชั้นอกนิษฐภพ รูปพรหมชั้นที่ ๕ อันเป็นชั้นสูงสุดของรูปภพ ซึ่งพรหมในชั้นนี้จะได้บรรลุอรหันต์ทั้งหมด จึงวาดภาพของพระพรหมประทับในวิมาน และหลายองค์ ทั้งยังแสดงความสักการะทุสสเจดีย์อันประดิษฐานฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์เมื่อเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) รวมทั้งภาพพระอริยสงฆ์ประทับในวิมาน อันหมายถึงผู้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ใกล้ความหลุดพ้น จะมาเกิดอยู่ในชั้นนี้ก่อนจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน 

    

     ใต้เส้นสินเทาลงมากึ่งกลางเป็นภาพของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล มีปลาอานนท์หนุนเบื้องล่าง รายล้อมอยู่โดยรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ ภายในชอบเขตของมหานทีสีทันดรที่ล้อมรอบด้วยกำแพงจักรวาลทั้ง ๔ มุมมีภาพของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเมืองในทิศทั้ง ๔ อันเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกา ได้แก่ท้าวเวสสุวรรณปกครองเมืองทิศเหนือ มีบริวารเป็นยักษ์ ท้าววิรุฬหกปกครองเมืองทิศใต้ มีบริวารเป็นกุมภัณฑ์ ท้าวธตรฐปกครองเมืองทิศตะวันออกมีบริวารเป็นคนธรรพ์ และท้าววิรูปักข์ ปกครองเมืองทิศตะวันตกมีบริวารเป็นนาค 




     บนยอดเขาพระสุเมรุคือดาวดึงส์ สรวงสวรรค์ชั้น ๒ วาดพระอินทร์ประทับในไพชยนต์ปราสาทแวดล้อมด้วยผู้หมู่เทวดา เคียงอยู่กับพระเกศแก้วจุฬามณีมหาเจดีย์อันประดิษฐานพระเมาลี(มวยผม)และพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมะพุทธเจ้า บริเวณท้องฟ้าของสวรรค์ชั้นนี้ยังวาดไว้ด้วยภาพของช้างเอราวัณพาหนะของพระอินทร์ และต้นไม้ทิพย์ชื่อว่าปาริชาต ทั้งยังมีภาพเทวดาเหาะนำพระอาทิตย์ทรงรถ และพระจันทร์ทรงรถอยู่คนละฟาก

     ถัดลงมาเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามบันไดแก้ว เบื้องล่างสุดวาดเป็นภาพของนรกภูมิอันน่าสยดสยอง ด้วยบรรดาสัตว์นรกรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด น่าเกลียดน่ากลัว จำนวนมากกำลังถูกนายนิรยบาลลงโทษทรมานในรูปแบบกรรมวิธีต่าง ๆ อย่างน่าสยดสยองตามวิบากของเวรกรรมที่ได้กระทำมา ภายใต้บรรยากาศอันร้อนแรงของเปลวไฟแห่งนรก




     บนผนังหุ้มกลองด้านหน้าตรงข้ามกับพระประธาน วาดเป็นภาพพุทธประวัติตอนชนะมารหรือมารผจญขนาดใหญ่ในรูปแบบคล้ายกันกับที่วัดใหญ่อินทารามที่จังหวัดชลบุรี เบื้องบนสุดเหนือเส้นสินเทาวาดเหล่าทวยเทพที่ตื่นตระหนกในอานุภาพของทัพมาร ถัดลงมาคือภาพองค์พระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนโพธิบัลลังก์ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว เบื้องล่างเป็นพระแม่ธรณียืนบิดมวยผม ฝั่งขวามือเป็นภาพกองทัพพญาวัสดีมารพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือกลุ้มรุมเข้าโจมตี ในขณะที่ฝั่งซ้ายมือเป็นภาพกองทัพเหล่ามารถูกอุทกธารหลากไหลจากมวยผมของพระแม่ธรณีท่วมท้นจนต้องยอมพ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ 




      ส่วนบนผนังอุโบสถทั้งสองฟากซ้ายขวา ด้านบนเหนือเส้นสินเทาวาดไว้ด้วยภาพเทพชุมนุม ถัดลงมาเป็นจิตรกรรมทศชาติชาดก เรียงไปตามลำดับทั้งหมด ๑๐ ชาติ ได้แก่ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พระนารถชาดก วิฑูรชาดกและเวสสันดรชาดก 




        ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับที่ไหนแน่นอนก็คือจิตรกรรมที่อยู่ระหว่างช่องหน้าต่างทั้งสองฟากของผนังโบสถ์ ด้านหนึ่งวาดเป็นเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวของเกาะสมุย ได้แก่หินตาหินยาย ประติมากรรมธรรมชาติ วัดศิลางูที่มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดสำเร็จที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปะการังและพระปางอื่น ๆ จำนวนมาก วัดคุณาราม สถานที่เก็บสรีระสังขารไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อแดง เกจิอาจารย์สำคัญของเกาะสมุย  เจดีย์แหลมสอ เจดีย์สถาปัตยกรรมศรีวิชัยประดับด้วยกระเบื้องสีทอง สำนักสงฆ์แหลมดิน และวัดหน้าพระลาน อารามเก่าแก่ของเกาะสมุย




     ส่วนผนังอีกด้านวาดเป็นภาพจิตรกรรมเล่าถึงประเพณีของชาวเฉวง ประเพณีเจริญพระพุทธมนต์ชาวบ้านหมู่ ๓ ศาลาคอย ประเพณีลอยเรือเคราะห์ แบบพื้นบ้าน ทุกปีต้องมีมโนราห์ไปรำ ประเพณีการชนควาย การละเล่นกีฬาพื้นเมืองของชาวบ้าน แห่เรือพระออกพรรษา แห่ไปที่หน้าทอน งานประจำปี หนังตะลุง มหรสพพื้นเมือง เจดีย์เขาหัวจุก จุดชมทิวทัศน์บนยอดเขาของวัดสว่างอารมณ์







        ภาพชุดนี้เป็นแนวคิดของรองเจ้าอาวาส “อาตมาคิดเลือกสถานที่ไว้ แล้วก็พาช่างคนวาดไปดูตรงแหล่งท่องเที่ยวที่จะวาด เพื่อให้ได้ภาพที่สมจริงมากที่สุด” ท่านกล่าวพลางยิ้มอย่างภูมิใจ 

     สิ่งที่น่าสนใจอีกแห่งของวัดคือพระเจดีย์ศรีสุคตคีรีหรือเจดีย์เขาหัวจุก ตั้งอยู่บนบนยอดเขาหัวจุกในพื้นที่ของวัดสว่างอารมณ์ หลวงปู่กลบได้สร้างมณฑปและรอยพระพุทธบาทจำลองไว้เมื่อประมาณ ๗๐กว่า ปีก่อน แต่ต่อมาชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา หลวงพ่อสงัดเจ้าอาวาสองค์ต่อมาได้นำเงินทำบุญที่สะสมไว้หลายสิบปีสร้างเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทนั้นไว้ จากนั้นสมเด็จพุฒาจารย์วัดสระเกศ ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์ให้สำหรับพุทธศานิกชนชาวสมุยได้สักการะ บริเวณเจดีย์สามารถมองเห็นทิวทัศน์ท้องทะเลได้อย่างกว้างไกลและสวยงาม