Tuesday, January 23, 2024

วัดเทิงเสาหิน ปริศนาเสาศิลาอาราม

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ตีพิพม์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๖๖

เสาหินเรียงรายบนวิหาร

เสาหินสีเทาเรียงรายนั้นโดดเด่นจนเห็นได้แต่ไกล  จึงไม่น่าแปลกใจที่ถูกใช้เป็นชื่อเรียกขานอารามโบราณแห่งนี้ว่า วัดเทิงเสาหิน ในปัจจุบัน  

ชื่อเดิมในอดีตสมัยที่ยังเป็นซากวัดร้างจมอยู่กลางป่านั้น ชาวบ้านเคยเรียกกันว่า “วัดดงแหน” เนื่องจากในบริเวณโบราณสถานถูกล้อมรอบด้วยป่าต้นแหนหรือต้นสมอพิเภก ก่อนที่หลวงปู่เพ็ง พุทธธัมโม (พระครูสิริหรรษาภิบาล อดีตเจ้าอาวาส) ธุดงค์ผ่านมาพบเข้า เกิดศรัทธาก่อตั้งเป็นวัดขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ หลังจากนั้นกรมศิลปากรจึงได้มาสำรวจและทำการบูรณะขุดแต่งโบราณสถานวัดเทิงเสาหิน แล้วขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดขอบเขตเนื้อที่ประมาณ ๔,๘๐๐ ตารางเมตร

เจดีย์ประธานของวัดสถาปัตย์แบบล้านนา 

            ร่องรอยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือเจดีย์ประธานของวัดที่หลงเหลือเพียงชุดชั้นฐานเขียงและชั้นฐานบัวย่อเก็จบางส่วนที่อยู่ถัดขึ้นไป ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับวิหาร ในบริเวณวิหารมีฐานชุกชีขนาดใหญ่กับชิ้นส่วนของเศียรพระปูนปั้นตั้งอยู่ด้านบนตรงกึ่งกลาง

ทั้งฐานไพที วิหาร และเจดีย์ล้วนแล้วแต่ก่อด้วยอิฐทั้งสิ้น มีเพียงเสาวิหารอย่างเดียวที่ใช้วัสดุแตกต่างออกไป นั่นคือ “หิน”  

เสาหินแปดเหลี่ยมเรียงรายมุมหนึ่งของวิหาร


       เสาของวิหารเป็นแท่งหินทรายสกัดเป็นแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๕ เซนติเมตร  ความยาวต้นละ ๓.๕ เมตร แต่ละเสาประกอบด้วยชิ้นส่วนหิน ๔ ชิ้น ชิ้นส่วนล่างสุดคือส่วนฐานของเสา สกัดเป็นแป้นกลม เจาะรูตรงกลางเหมือนกับโดนัท สำหรับรองรับเดือยของตัวเสา ส่วนที่เป็นตัวเสา ลักษณะเป็นแท่งยาวปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรู  ส่วนปลายอีกด้านสกัดเป็นเดือย นำมาต่อเข้าด้วยกัน ในขณะชิ้นส่วนบนสุดที่เป็นยอดเสาเจาะเป็นช่องด้านข้างไว้สำหรับสอดคานไม้รองรับหลังคาวิหาร  

            เสาหินที่เห็นตั้งอยู่เรียงรายในปัจจุบันนี้มาจากทางกรมศิลปากรได้มาทำการขุดแต่งบูรณะ นำชิ้นส่วนเสาซึ่งล้มกระจัดกระจายมาต่อติดตั้งขึ้นใหม่เท่าที่ทำได้ ส่วนที่ต่อไม่ได้บางส่วนก็นำไปกองไว้ตรงมุมหนึ่งของฐานวิหาร บางส่วนก็ยังคงทิ้งไว้ในตำแหน่งเดิมที่พบ

เสาหินที่โผล่ออกมาจากฐานชุกชี

            นอกเหนือไปจากเรื่องการใช้หินเป็นวัสดุทำเสาของวิหารซึ่งถือว่า“แปลกประหลาด” แตกต่างจากวิหารอื่น ๆ ทั่วไป ปริศนาน่าสนใจอีกประการก็คือร่องรอยของเสาหินบางส่วนที่อยู่ในลักษณะ “ผิดปกติ” ครับ

            เห็นได้ชัดคือตรงฐานชุกชีทางฝั่งทิศเหนือ ปรากฏแป้นหินที่เป็นฐานของเสาและเสาหินสี่เหลี่ยมโผล่ออกมาในลักษณะเอียงกะเท่เร่ ลักษณะเหมือนกับเสาได้ล้มลง แล้วไม่สามารถยกขึ้นได้ ต้องก่ออิฐทับทำเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานเป็นแนวยาวมาติดผนังไปเลย เล็งดูแล้วตัวเสาส่วนที่โผล่ออกมาอยู่ในแนวเดียวกับผนังวิหารพอดี แสดงว่าก่ออิฐซ่อนเสาไว้ในผนัง เมื่อผนังอิฐของวิหารพังทลายลง เสาที่ถูกซ่อนไว้ถึงได้โผล่ออกมาอย่างที่เห็น

องค์พระพุทธรูปปูนปั้นคว่ำอยู่ในซุ้มหลังวิหาร

            แล้วก็ยังมีทางด้านหลังของวิหารที่ได้มีการก่ออิฐทับบนเสาหินสี่เหลี่ยมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของฐานมณฑปหรือซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ซึ่งถูกขุดทะลวงหาสมบัติจนล้มคว่ำหน้าลงมาแตกหักเห็นเป็นซากอยู่ ดูจากขนาดองค์พระแล้วเศียรพระพุทธรูปที่ตั้งบนฐานชุกชีในวิหารก็น่าจะเป็นขององค์นี้แหละครับ เป็นไปได้ว่าพระประธานองค์จริงอาจจะเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ แล้วถูกอัญเชิญไปที่วัดอื่นหรืออัญเชิญลงมากรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามเรื่องราวพงศาวดารว่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปโลหะจากวัดร้างต่าง ๆ ในหัวเมืองทางเหนือลงไปเป็นพระประธานตามวัดในพระนครจำนวนมาก

เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นบนฐานชุกชีในวิหาร

             ด้วยเหตุเรื่องราวของวัดเทิงเสาหินไม่ปรากฏบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ใด ๆ จึงได้มีการสันนิษฐานจากเสาหินที่ปรากฏว่าเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยขอม แต่หากพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรม รวมทั้งการขุดคูน้ำล้อมรอบวัดในรูปแบบของ “เวียงพระธาตุ” แบบล้านนา ซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยพญากือนาธรรมิกราชทรงสร้างวัดสวนดอกถวายให้พระสุมนเถระ อันได้อาราธนาจากนครสุโขทัยมาเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเชียงใหม่  ประกอบกับพุทธศิลป์ของเศียรพระปูนปั้นบนฐานชุกชีในวิหาร ลักษณะศิลปกรรมแบบล้านนาอิทธิพลสุโขทัย วิหารวัดเทิงเสาหินจึงน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือในสมัยล้านนา

ช่วงเวลาดังกล่าวเวียงเทิงก็เป็นเวียงที่อยู่ในเครือข่ายของเมืองพะเยา กำลังนิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายในรูปแบบเฉพาะตัว เรียกว่า “สกุลช่างพะเยา” อยู่พอดี จึงเป็นไปได้อย่างมากที่จะมีการพยายามสร้างวิหารด้วยหินทรายขึ้นมาด้วย นอกเหนือจากการสร้างพระพุทธรูปที่โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์


แป้นหินที่รองรับเสาหินบนฐานวิหาร

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ยังคงต้องรอการค้นคว้าศึกษาจากนักโบราณคดี ให้มาช่วยไขปริศนาว่าด้วย “เสาศิลา” ของวัดเทิงเสาหินอย่างเป็นวิชาการและเป็นทางการอีกทีนึง

แต่ที่จริงแท้แน่นอน รับรองได้ในตอนนี้เลยก็คือ แวะมาเที่ยวชมแล้วไม่เสียเที่ยวแน่นอนครับ

เทียบขนาดเสาหินกับตัวคน (สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ)