![]() |
อุโบสถของวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกดูแปลกตา |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙
วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๕ – ๒๔๒๑ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว
บนที่ดินติดกับทำเนียบ เพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค
โดยท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง
เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งโปรดพระราชทานนามว่า “วัดศรีสุริยวงษาวาส” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "วัดศรีสุริยวงศาราม"
พระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒
Add caption |
จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมในแบบไทยประยุกต์
โดยผสมผสานเอาส่วนประกอบอันเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกหลากหลายเข้ามาไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
แลดูสวยงามแปลกตา เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่สยามประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก
จำเป็นต้องยอมรับเอาวิทยาการจากตะวันตกหลายอย่างเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองเป็นอาณานิคม
ลวดลายปูนปั้นตราสุริยะบนหลังช้างสามเศียรขนาบด้วยเศวตฉัตรเจ็ดชั้นบนหน้าบันพระอุโบสถ |
ลวดลายนกยูงในดวงอาทิตย์ บนหน้าจั่วเหนือซุ้มประตูพระอุโบสถ |
บานหน้าต่างแบบไทยไปด้วยกันได้กับซุ้มและลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่งที่ประดับด้านบน |
เสาแบบโครินเธียนและซุ้มโค้งที่รองรับชายคาปีกนกนอกอุโบสถ |
พระอุโบสถใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค
(Gothic) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา
ไม่มีช่อฟ้าใบระกา บนหน้าบันประดับปูนปั้นรูปตราสุริยะรองรับด้วยช้างสามเศียร ขนาบสองข้างด้วยเศวตฉัตรเจ็ดชั้น
ชายคาปีกนกรองรับด้วยเสากลมแบบโครินเธียน (Corinthian)
ระหว่างเสาแต่ละต้นเชื่อมต่อด้วยครึ่งวงกลมแบบโค้ง (Arch) พื้นภายนอกแต่เดิมปูด้วยกระเบื้องโมเสก ทว่าปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปูด้วยหินอ่อนแล้ว
หน้าจั่วเหนือซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายรูปดวงดาวเปล่งรัศมี หน้าจั่วเหนือซุ้มประตูประดับลวดลายนกยูงในดวงอาทิตย์
ภายในอุโบสถมีความโดดเด่นที่ผนังเขียนสีเลียนแบบลวดลายหินอ่อนสีน้ำตาล |
โคมไฟระย้าหรือแชนเดอร์เลีย ความหรูหราแบบฝรั่งที่ถูกนำมาประดับภายในอุโบสถ |
ประจักษ์พยานในอัจฉริยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์ทางงานช่างของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็คือผนังโบสถ์
ภายในทั้งสี่ด้านของผนังฉาบปูนวาดสีเป็นลวดลายเลียนแบบหินอ่อนสีน้ำตาล ตามดำริของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่ต้องการพื้นผนังหินอ่อน
แต่ราคาหินอ่อนสมัยนั้นแพงมาก เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสั่งซื้อจากอิตาลีแล้วส่งมาทางเรือเท่านั้น
ท่านจึงได้สั่งให้ช่างฉาบผนังด้วยปูน แล้วเซาะร่องให้เหมือนกับรอยต่อของแผ่นหินอ่อน จากนั้นจึงลงสีวาดลายให้ดูเป็นลายหินอ่อนดังที่เห็น
ซึ่งหากไม่บอกก็แทบไม่มีใครรู้ว่าเป็นการวาดขึ้นมา เรียกว่าเหมือนหินอ่อนจริงที่สุด
ปัจจุบันยังคงเป็นลวดลายเดิมที่อนุรักษ์ไว้ ส่วนล่างของผนังปิดด้วยกระเบื้องแบบเก่าเป็นลวดลายสีน้ำเงินสลับขาวงดงาม เพดานภายในประดับลวดลายปูนปั้นทาสีแบบลายเทศ
แขวนโคมไฟระย้าหรือแชนเดอเลียร์ให้ความสว่างไสว
ภาพพิมพ์หินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หลังองค์พระประธาน |
องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๑๕
เมตร ลงรักปิดทอง พุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ หลังองค์พระประธานบนผนังประดับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และภาพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพื่อแสดงถึงผู้ที่มีส่วนในการสร้างวัดขึ้นมา
ทั้งสองภาพเป็นภาพที่ใช้เทคนิคในการพิมพ์ที่เรียกว่าพิมพ์หิน (Lithography) ที่สวยงามมองดูมีมิติหาชมได้ยาก
เจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงระฆังตั้งอยู่บนอาคารแปดเหลี่ยมแบบฝรั่งที่ประดับประดาด้วยซุ้มโค้งโดยรอบ |
หลังพระอุโบสถเป็นพระเจดีย์ประธานของวัด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นเจดีย์ระฆังคว่ำทรงกลม ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งบนตึก ๘ เหลี่ยมแบบฝรั่ง ล้อมรอบด้วยระเบียง
พื้นระเบียงแต่เดิมเป็นไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นปูน มีบันไดก่ออิฐขึ้นลงระเบียง
ตัวอาคารชั้นล่างทำเป็นซุ้มโค้งโดยรอบรองรับด้วยด้วยเสาพาไลกลมแบบเสาโรมัน ซุ้มแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง
ๆ
ประติมากรรมปูนปั้นเทวดาเด็กแบบฝรั่งประดับบนยอดซุ้มประตูวัด |
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังปรากฏกุฏิก่ออิฐฉาบปูน
๒ ชั้น พื้นปูด้วยไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาอีกสามหลัง ที่สร้างในลักษณะสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกัน
รวมไปถึงซุ้มประตูของวัดที่สร้างขึ้นใหม่โดยท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมานุศาสน์
(สุมิตฺตเถระ) อดีตเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ แทนซุ้มประตูที่ทรุดโทรมปรักหักพังไป แต่ยังคงใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบเดียวกันกับพระอุโบสถเพื่อให้เข้ากัน
โดยก่ออิฐฉาบปูน ประตูเป็นซุ้มโค้งขนาบด้วยเสากลมข้างละ ๓ เสา ประดับด้วยรูปครุฑเหนือธรรมจักรสิงห์คู่สองฟากผนัง
ตรงกลางซุ้มมีอักษรระบุชื่อ “ วัดศรีสุริยวงศ์ ” ประดับลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง บนส่วนยอดประดับประติมากรรมลอยตัวรูปเทวดาเด็กมีปีก
ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานอันทรงคุณค่า แสดงถึงพัฒนาการทางด้านสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาหนึ่งอันเป็นรอยต่อระหว่างสถาปัตยกรรมประเพณีดั้งเดิมของไทยกับสถาปัตยกรรมที่ประยุกต์รับเอาแบบแผนสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน
ในยุคสมัยของการปรับปรุงสยามประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่
ซึ่งผู้สนใจทางด้านวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมไทยควรได้มาดูชม
คู่มือนักเดินทาง
วัดศรีสุริยวงศาราม(ศรีสุริยวงศ์) ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๓๖๕ ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง
อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตรงมาทางหอศิลป์เถ้าฮงไถ่
เลี้ยวขวาเข้าถนนสฤษดิ์เดช ตรงมาจนสุดถนน เลี้ยวขวาตามถนนอัมรินทร์มาจนสุดทาง
จะพบวัดอยู่หัวมุมถนนอัมรินทร์ที่เชื่อมต่อกับถนนสุรพันธ์เสนีย์
หน้าต่างกลมอันไม่เคยปรากฏในสถาปัตยกรรมไทยมาก่อน |