พระอัฏฐารสองค์หน้า ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อสิน” เด่นตระหง่านอยู่ภายในวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙
"พระอัฎฐารส" เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธรูป คำว่า“อัฎฐารส”เป็นภาษาบาลี (อ่านว่าอัฎฐาระสะ แปลว่าสิบแปด) หมายถึงพระพุทธรูปสูงสิบแปดศอก
ซึ่งหมายรวมถึงพระพุทธรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด (ยืน นั่ง เดิน นอน)
ที่มีสัดส่วนองค์พระเท่ากับสิบแปดศอก แต่ด้วยในศิลาจารึกสุโขทัยมีข้อความบันทึกว่า
“...ในกลางอรัญญิกมีพิหารอันหนึ่งบนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารสอันหนึ่งลุกยืน..." ทำให้คนส่วนมากเข้าใจไปว่าพระอัฏฐารสหมายถึงพระพุทธรูปยืนอย่างเดียว
คติความเชื่อในการสร้างพระอัฏฐารสนี้สันนิษฐานว่าช่างในสมัยโบราณสร้างตามข้อความที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี
อันกล่าวไว้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูงสิบแปดศอก ซึ่งคติความเชื่อในการสร้างพระสิบแปดศอกเริ่มนิยมกันมาจากในลังกาทวีป
ก่อนที่นครสุโขทัยจะรับอิทธิพลคติเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์
อย่างไรก็ตามพระอัฏฐารสส่วนใหญ่ที่เป็นพระยืนปางประทานพรอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของของสุโขทัยอย่างหนึ่ง
เนื่องจากพบเห็นอยู่มากในเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเมืองที่รับอิทธิพลของสุโขทัย
องค์พระยืนนิยมสร้างผนังรองรับไว้ด้านหลัง หรือสร้างในรูปของอาคารที่เรียกกันว่า
“คันธกุฎี” ลักษณะคล้ายมณฑปแต่แคบมาก ล้อมองค์พระพุทธรูปเอาไว้เพื่อค้ำยันให้มั่นคงไม่ล้มลงมา
โดยปกติพระอัฏฐารสประทับยืนมักจะพบเห็นสร้างไว้องค์เดียวโดด
ๆ แต่ที่วัดประโชติการาม จังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะแปลก คือมีสององค์
ประทับยืนหน้า -หลัง แตกต่างออกไปไม่เหมือนที่ไหน เรียกได้ว่าเป็นพระอัฏฐารสคู่แห่งเดียวในประเทศไทย
ยังไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรว่าทั้งสององค์สร้างขึ้นเมื่อใด
แต่จากรูปแบบพุทธศิลป์และสภาพแวดล้อมพอจะสันนิษฐานได้ว่าทั้งสององค์เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรสมัยสุโขทัย
มีลักษณะการผสมผสานอิทธิพลแบบอู่ทองในส่วนพระพักตร์
ประมาณอายุได้ไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี องค์หน้าประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร
เรียกกันว่า "หลวงพ่อสิน" สูง ๓ วา ๓ ศอก ๕ นิ้ว บริเวณด้านหลังพระเศียรทำเป็นรัศมีรูปเปลวคล้ายซุ้มเรือนแก้ว
ส่วนองค์หลัง ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป เรียกกันว่า "หลวงพ่อทรัพย์"
สูง ๖ วา ๗ นิ้ว
![]() |
ภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นสภาพดั้งเดิมขององค์พระหลวงพ่อสินท่ามกลางซากปรักหักพังของวิหาร แลเห็นมณฑปหลวงพ่อทรัพย์อยู่ด้านหลัง |
![]() |
ภาพถ่ายเก่าด้านข้างของมณฑปและวิหารที่อยู่ในสภาพรกร้างพังเค |
แต่เดิมหลวงพ่อสินอยู่ในวิหารที่มีสภาพปรักหักพัง
ผนังทลายลงหมด เหลือแต่องค์พระทรุดโทรมยืนเอนเอียงจวนจะล้ม
สามเณรรูปหนึ่งภูมิลำเนาเดิมอยู่ใกล้วัดประโชติการาม
แต่ไปจำพรรษาเรียนภาษาบาลีอยู่ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ กลับมาเยี่ยมญาติโยมทางบ้าน
เห็นสภาพองค์พระใกล้พังทลายเต็มทีจึงได้ชักชวนญาติโยมนำเสาไม้มาค้ำยันไว้ หลายปีต่อมาสามเณรซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหาสม
พ่วงภักดี ลาสิกขาออกมาประกอบกิจการโรงพิมพ์ ส. ธรรมภักดีจนร่ำรวย ได้กลับมาบูรณะองค์หลวงพ่อสินจนมั่นคง
แล้วสร้างวิหารครอบขึ้นใหม่
![]() |
เจดีย์องค์เดิมของวัดอยู่หลังมณฑป คั่นกลางด้วยต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ จากภาพถ่ายเก่านี้พอสังเกตเห็นรูปทรงได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง |
หลังแนวพระอุโบสถหลังเก่าปรากฏซากเจดีย์เป็นแนวก่ออิฐถือปูนฐานแปดเหลี่ยม
กว้าง ๑๒ ยาว ๑๒ เมตร จากภาพถ่ายเก่าที่หลงเหลือพอจะเห็นได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง
สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้คงมีความสูงประมาณ ๑๘ เมตร แต่จากการลักลอบขุดค้นหาสมบัติทำให้เจดีย์พังทลายลง
ในปีพ.ศ. ๒๔๙๖พบ ไห๔ หูโบราณ ภายในบรรจุพระเครื่อง
พระบูชาปางต่าง ๆ หลายสิบชนิด กำไลข้อมือทองคำ ทองเหลือง แหวนหนวดกุ้งแบบโบราณ บริเวณใต้ฐานเจดีย์
ทางวัดในขณะนั้นได้นำออกให้ประชาชนบูชานำรายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถและเจดีย์แทนองค์เก่า
จึงเหลือแต่ไหสี่หูโบราณที่ปัจจุบันใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์อยู่ในอุโบสถ
![]() |
วิหารหลวงพ่อสินที่สร้างโดยมหาสม พ่วงภักดี ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว |
กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดค้นแนวรอบวิหารและมณฑป
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลึกลงไปประมาณ ๓ เมตร พบลวดลายปูนปั้น
ช่อฟ้า ใบระกา แนวกำแพงโบราณ และแนวอิฐที่เรียกว่าฐานไพทีรอบอุโบสถ วิหาร และมณฑป ความยาวประมาณ ๒๐ เมตร ฐานไพทีมี ๒ ชั้น คาดว่าในอดีตบริเวณวัดประสบปัญหาอุทกภัย จึงสร้างแนวกำแพงขึ้นอีกชั้นหนึ่งแล้วนำดินมาถมอัดเป็นเขื่อน
เพื่อไม่ให้น้ำหลากไหลเข้ามาท่วมในบริเวณวิหารและมณฑป
วิหารหลังใหม่สถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยประยุกต์ กับภูมิทัศน์ภายในวัดประโชติการามที่ได้รับการปรับปรุงจนงดงาม |
ในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ทางวัดโชติการามได้มีการบูรณะครั้งใหญ่
โดยปรับปรุงมณฑปหลวงพ่อทรัพย์และทุบวิหารของมหาสม พ่วงภักดี ที่สร้างครอบหลวงพ่อสินไว้
แล้วสร้างวิหารสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยประยุกต์หลังใหม่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณฐานรากของวิหารดั้งเดิม
รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบใหม่ทั้งหมดจนสวยงามน่าเยี่ยมชม
ปัจจุบันกำลังมีโครงการที่จะบูรณะปิดทององค์หลวงพ่อทรัพย์และหลวงพ่อสินให้งดงาม
ผู้ที่แวะเวียนเข้าไปสักการะสามารถมีส่วนร่วมในการสบทบทุนในการบูรณะพระอัฏฐารสคู่
หนึ่งเดียวในประเทศไทย ให้คงอยู่คู่เมืองสิงห์บุรีต่อไปตราบนานเท่านาน
คู่มือนักเดินทาง
วัดประโชติการาม
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีตาม
เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๑ เส้นสิงห์บุรี–ชัยนาท
(สายเก่า) ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร
No comments:
Post a Comment