Thursday, June 2, 2016

ชิโน-โปรตุกีส (โคโลเนียล) ความลงตัวของการผสมผสานทางสถาปัตยกรรม




ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๙

              คำว่า ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portugyese) มาจากคำว่า ชิโน” หมายถึงจีน และคำว่า โปรตุกีส” อันหมายถึง โปรตุเกส  ใช้เป็นชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่ง ที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น  (ภายหลังต่อมานิยมเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่าสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมหรือโคโลเนียลเพื่อให้ครอบคลุมในด้านพัฒนาการมากขึ้น)


รูปแบบสถาปัตยกรรมชนิดนี้เกิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายู ในช่วงจักรวรรดินิยมตะวันตก เมื่อโปรตุเกสเข้ามายึดครองเมืองท่ามะละกาจากอาห์เหม็ด ชาห์ สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรมะละกาเป็นอาณานิคมได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๔ แล้วตั้งสถานีการค้าสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยขึ้น ด้วยสถาปัตยกรรมตามแบบของโปรตุเกส  โดยใช้แรงงานช่างชาวจีนในการก่อสร้าง  ด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบจีน ประกอบกับบริบททางวัฒนธรรมของช่างชาวจีน ทำให้สถาปัตยกรรมมีรูปแบบตามคติความเชื่อของจีนเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของโปรตุเกส   


แม้ว่าในช่วงเวลาต่อมาฮอลันดาและอังกฤษจะเข้ามามีอิทธิพลในมะละกาแทนโปรตุเกส และได้ผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมของฮอลันดาและอังกฤษเข้าไปในการปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติม แต่อาคารเหล่านี้ยังคงถูกเรียกขานว่าสถาปัตยกรรม ชิโน-โปรตุกีส”ต่อมา  

รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ได้แพร่หลายจากมะละกาไปยังดินแดนต่าง ๆ ในแหลมมลายู รวมถึงเมืองที่มีการติดต่อค้าขายกับมะละกา ได้แก่ มาเก๊า มาเลเซีย ปีนัง สิงค์โปร์  รวมทั้งประเทศไทยของเรา ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเมืองภูเก็ต เมืองระนอง และเมืองตะกั่วป่าในจังหวัดพังงาเป็นเมืองที่รับเอาสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสเข้ามา ผ่านทางเมืองปีนังที่มีการติดต่อค้าขายกันใกล้ชิดในเวลานั้นอีกที           
            


สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ปรากฏในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ  ตามลักษณะการใช้งาน กลุ่มแรกคืออาคารสาธารณะ ที่ใช้เป็นที่ทำการของหน่วยราชการ สมาคม โรงเรียน และบริษัทเอกชน ส่วนใหญ่จะก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ตกแต่งด้วยลวดลายจากสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคและลวดลายในยุคต่อมา  


กลุ่มที่สองคือตึกแถว หรือ “เตียมฉู่”  มีลักษณะอาคารหลังคาทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่มีร่องมุมแหลมรูปตัววี ประตูหน้าต่างชั้นล่างประดับตกแต่งลวดลายแบบจีน ในขณะที่ชั้นบนเป็นหน้าต่าง บานขนาดใหญ่ ๒ หรือ ๓ ช่องยาวจดพื้น มีทั้งเป็นบานเกล็ดไม้ปรับได้ และบานเกล็ดกระทุ้ง บนกรอบหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นหลายรูปแบบ ทั้งโค้งครึ่งวงกลม โค้งเสี้ยว บางแห่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ลวดลายที่พบมีทั้งที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ตั้งแต่ยุคคลาสสิค มาจนถึงยุคอาร์ตเดโค ยังมีลายแบบจีน อินเดีย รวมทั้งลายไทยด้วย  ลักษณะพิเศษที่เด่นชัดอีกประการ คือมีช่องทางเดินเชื่อมต่อกันด้านหน้าของตึก ที่เรียกว่า “อาเขต” หรือในภาษาจีนว่า หง่อคาขี่” หมายถึงทางเดินกว้าง ๕ ฟุตจีน  มีหลังคาสำหรับป้องกันแดดและฝน อาคารแบบตึกแถวนี้มีอยู่มากที่สุด

กลุ่มที่สามคือคฤหาสน์ ที่ในภาษาจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเรียกว่า อั้งม้อเหลา” คือ ตึกฝรั่ง (อั้งม้อ แปลว่าผมแดง หมายถึงฝรั่ง ส่วนเหลาหรือหลาว แปลว่า ตึก) ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗  คฤหาสน์เหล่านี้มีลักษณะเป็นตึก ๒ ชั้นขนาดใหญ่ ตัวผนังก่ออิฐฉาบปูนแข็ง ประดับลวดลายปูนปั้นและตกแต่งคล้ายคลึงกับตึกแถว ผสมผสานกันหลากหลายรูปแบบ   


สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่ในย่านตัวเมืองของภูเก็ต เมืองระนอง และ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยที่เมืองภูเก็ตมีจำนวนค่อนข้างมาก ทั้งยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด  

No comments:

Post a Comment