การออกแบบอย่างประณีต เลือกปั้นประติมากรรมให้อยู่ในบริเวณที่แสงสาดส่อง ขับเน้นให้ดูโดดเด่นงดงาม
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๕๘.
ถ้ำยายจูงหลาน...ชื่ออันฟังดูน่ารักนี้มีที่มาจากการค้นพบถ้ำเล็ก
ๆ แห่งหนึ่งในบริเวณสำนักสงฆ์เขาน้อย หมู่ ๔ บ้านไร่สะท้อน ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด
จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี ๒๕๔๘ หรือเมื่อสิบปีที่ผ่านมา
ภายในถ้ำหินปูนเล็ก ๆ สูงประมาณ ๔ เมตร ภายในเป็นโถง เพดานสูงประมาณ ๕ เมตร ใต้ปากถ้ำซึ่งถูกตกแต่งเป็นกรอบวงโค้งประดับด้วยปูนปั้นบนผนังทางฝั่งขวา มีภาพที่ดูคล้ายกับบุคคลหนึ่งกำลังจูงมืออีกบุคคลหนึ่ง
ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า “ถ้ำยายจูงหลาน”
ตามอาการที่เห็น
|
. ทว่าเมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจและศึกษาก็พบว่า
แท้จริงแล้วภาพปูนปั้นนั้นเป็นประติมากรรมสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๓ ภาพบุคคล ๓ คนที่ปรากฏ ทางซ้ายมือคือพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์
ประทับยืนในท่าเอียงสะโพกหย่อนขาข้างหนึ่ง
(ตริภังค์)อยู่ภายในประภามณฑลที่มีเปลวรัศมีล้อมรอบ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นในปางประทานพร
พระหัตถ์ขวาทรงถือไม้เท้าหัววงแหวนหรือ “ขักขระ” แนบพระอุระ รอบพระเศียรปรากฏขมวดพระเกศาและพระเกตุมาลาอันเป็นพุทธลักษณะ
จีวรที่ห่มคลุมทาด้วยสีแดงเลือดหมู
พระโพธิสัตว์กษีติครรภะเป็นที่นิยมนับถือมากในจีนและธิเบต
ตามคัมภีร์ว่าทรงมีวรรณะกายสีเขียวหรือขาว
นับเป็นหนึ่งในแปดของกลุ่มพระอัษฎามหาโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายานในนิกายวัชรยานตันตระ
มีหน้าที่หลักคือโปรดสรรพสัตว์ในนรกภูมิ โดยปกติจะทรงถือไข่มุกเรืองแสงที่ใช้ขจัดความมืดของนรกในพระหัตถ์ซ้าย
และถือไม้เท้าขักขระ ซึ่งใช้สั่นให้เกิดเสียงดังเพื่อเปิดประตูนรกในพระหัตถ์ขวา
ภาพพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์
เมื่อพิจารณาใกล้ ๆ จะเห็นว่าในพระหัตถ์ขวาทรงถือไม้เท้าขักขระ และในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือไข่มุกเรืองแสง |
ส่วนภาพบุคคลสองคนทางฝั่งขวา
คือภาพที่คนเห็นว่าเป็น “ยายจูงหลาน” เหลืออยู่เพียงบางส่วนไม่ครบทั้งตัวแล้ว โดยเฉพาะทางซ้ายเหลือเพียงศีรษะและแขนซ้าย
ในขณะที่ทางขวาเหลือตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงเข่า มือข้างขวามองดูเหมือนกับจับแขนซ้ายของอีกคนเอาไว้คล้ายจูง
ทั้งสองมีศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) และการแต่งกายคล้าย ๆ กับว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน
พินิจจากศิราภรณ์และลักษณะการแต่งกาย
เห็นได้ชัดว่าภาพนี้คือพระโพธิสัตว์อีกสองพระองค์ ซึ่งชาวบ้านมองเห็นเป็นภาพยายจูงหลาน |
เหนือขึ้นไปด้านบนตรงกลาง ยังปรากฏร่องรอยภาพบุคคลอีกคนในลักษณะกำลังเหาะมาในอากาศ
ปรากฏในข้อมูลที่บันทึกไว้ว่าแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการ
แต่ปัจจุบันกะเทาะไปมองแทบไม่เห็นแล้ว คงมีเพียงประภามณฑลและเปลวรัศมีที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น
คาดว่าเป็นภาพของเทพที่เหาะมาสักการะพระโพธิสัตว์
เช่นเดียวกับด้านบนของปากถ้ำถัดออกมาอีกชั้นที่มีภาพเทวดาเหาะพนมมือเหนือศีรษะในลักษณะแสดงความเคารพเช่นกัน
ถือเป็นประติมากรรมปูนปั้นสมัยทวารวดีที่งดงามและมีความน่าสนใจบนเส้นทางล่องลงสู่ภาคใต้
แถมอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางสายหลัก
หากผ่านทางไปควรหาโอกาสแวะเวียนเข้าไปชมเป็นบุญตาสักครั้ง
ทางเข้าสู่ถ้ำยายจูงหลานอันเป็นถ้ำบนภูเขาเล็ก
ๆ |
คู่มือนักเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข
๔ (ถนนเพชรเกษม) ออกจากเมืองเพชร ฯ ไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เลี้ยวขวากลับรถตรงบริเวณป่าต้นยาง
แล้วชิดซ้ายเข้าเลนใน ตรงมาตามทางประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางสู่สำนักสงฆ์เขาน้อยเลาะตามคันคลองห้วยอ่างหิน จะมีป้ายบอกทางไปจนถึงสำนักสงฆ์
ถ้ำจะอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ทางซ้ายมือที่ล้อมรอบด้วยป่าต้นยาง
No comments:
Post a Comment