Thursday, September 13, 2018

อลังการสองเจดีย์นิรนาม ความงดงามแปลกตาไม่ซ้ำใครในกรุงเก่า

เจดีย์รายแปดเหลี่ยม วัดมหาธาตุ งดงามด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแปลกตา ลักษณะคล้าย “ถะ” หรือสถูปเจดีย์แบบจีน
คือเป็นแปดเหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น ต่างกันตรงที่มีส่วนยอดเป็นพระปรางค์ขนาดเล็ก


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท สิงหาคม ๒๕๖๑



 ในท่ามกลางร่องรอยความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานมากมายถูกยกย่องให้ทรงคุณค่า ด้วยมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในหน้าในประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันกับที่อีกจำนวนไม่น้อยปราศจากเรื่องราวที่มาที่ไป  กลับกลายเป็นเพียงซากปรักหักพังนิรนามไร้ซึ่งผู้คนเหลียวแลสนใจ

 ทว่าในบรรดาโบราณสถานอันไม่ปรากฏนามและประวัติความเป็นมาเหล่านี้ ถึงกับมีบางแห่งยังสามารถเปล่งประกายโดดเด่นสะดุดตาได้ โดยมิต้องอาศัยเรื่องราวเก่าแก่จากตำนานหรือพงศาวดารแต่ครั้งใดมาช่วยประโคมโหมโอ่ เพียงด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครและการประดับประดาอันวิจิตรตระการตา แม้จากร่องรอยความงามที่เหลืออยู่เพียงบางส่วน ยังเกินพอจะถูกจัดอยู่ในทำเนียบสถาปัตยกรรมอันล้ำเลอค่าน่าชมแห่งกรุงศรี ฯ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้วยที่ตั้งนอกเขตระเบียงคดของวัดและขนาดและสีสันที่ใกล้เคียงกันกับปรางค์รายจึงทำให้ดูกลมกลืนกันไปจนถูกมองข้าม 


เจดีย์รายทรงแปดเหลี่ยมหน้าวัดมหาธาตุ คือหนึ่งในจำนวนดังกล่าว เจดีย์รูปแบบนี้กล่าวได้ว่ามีน้อยยิ่งกว่าน้อย นั่นคือพบเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในพระนครศรีอยุธยา โดดเด่นเป็นสง่าอยู่นอกระเบียงคดของวัดมหาธาตุท่ามกลางปรางค์รายที่ตั้งเรียงเป็นแถวเป็นแนว

ส่วนฐานย่อมุมและซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปชั้นแรก 



องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนตระหง่านบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ แบ่งเป็นสี่ชั้นลดหลั่นซ้อนกันในแนวสอบขึ้นไปจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน

โดยรอบของชั้นแรกและชั้นที่สองแต่ละด้านก่อเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนชั้นที่สามก่อเป็นซุ้มประดิษฐานประติมากรรมนูนสูงรูปสถูปเจดีย์ ตรงมุมระหว่างรอยต่อของซุ้มของทั้งสามชั้นประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเทพนมซ้อนกันสององค์

ภายในซุ้มชั้นที่สามประดิษฐานประติมากรรมรูปสถูปเจดีย์ 
ประติมากรรมเทพพนมซ้อนกันสององค์ที่ประดับอยู่ตามมุมระหว่างซุ้ม 


ชั้นที่สี่แตกต่างออกไปด้วยการก่ออิฐฉาบปูนเป็นซุ้มยอดปรางค์ขนาดเล็กทั้งแปดด้าน (ภายในซุ้มคาดว่าจะประดิษฐานพระพุทธรูปนูนต่ำ แต่กะเทาะชำรุดเสียหายด้วยกาลเวลาไปหมดแล้ว) ประดับมุมรอยต่อระหว่างซุ้มปรางค์ด้วยปูนปั้นเทวรูปสี่กร (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปพระนารายณ์หรือพระพรหม)

ชั้นที่สี่ซึ่งเป็นส่วนยอดของเจดีย์แปดเหลี่ยมทำเป็นซุ้มปรางค์แปดทิศโดยมีปรางค์ประธานอยู่กึ่งกลางเป็นส่วนยอด
ตรงมุมที่เป็นรอยต่อระหว่างซุ้มประดับด้วยปูนปั้นเทวรูปสี่กร
 

ส่วนยอดบนสุดเป็นปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่กึ่งกลาง ว่ากันว่าบนยอดของปรางค์องค์กลางนี้เคยประดิษฐานสถูปสำริดซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาแล้ว  

ด้วยความที่ตั้งอยู่ตรงมุมนอกระเบียงคดของวัดมหาธาตุรวมกับปรางค์รายที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แลดูกลมกลืนกัน จึงทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยผ่านเลยไป โดยไม่ทันสังเกตเห็นความงดงามอันแปลกตาของรูปทรงและการประดับประดาอันมีเอกลักษณ์ระดับ “หนึ่งเดียวในกรุงเก่า”  เรียกได้ว่าพลาดไปอย่างไม่น่าให้อภัย

 ความงดงามของเจดีย์รายวัดโลกยสุธารามคือพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วที่เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างสวยงาม


เช่นเดียวกันกับที่วัดโลกยสุธาราม อันเป็นที่ตั้งของพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดเกาะเมืองอยุธยา  มุมกำแพงชั้นนอกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ใต้เงาไม้อันร่มครึ้มซุกซ่อนไว้ด้วยเจดีย์รายทรงฝักข้าวโพดแปดเหลี่ยม อันงามละเอียดลออตาซึ่งสร้างขึ้นพร้อมวัดโลกยสุธาตั้งแต่แรก เพื่อให้เป็นเจดีย์ทิศประจำมุมกำแพงชั้นนอกของวัดทั้งสี่ทิศ

น่าเสียดายว่าเจดีย์รายอีก ๓ องค์ที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกันพังทลายไปในกาลเวลาหมดสิ้นแล้ว ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยแม้แต่ซาก จึงเท่ากับว่าเจดีย์รายทรงฝักข้าวโพดนี้เหลือแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น  


จดีย์รายแปดเหลี่ยมวัดโลกยสุธารามยืนเอนเอียงอยู่ในร่มเงาของแมกไม้


องค์เจดีย์เอนเอียงด้วยผ่านเวลามานาน ส่วนล่างของแม้เก่ากร่อน แต่จากการบูรณะขุดแต่งของกรมศิลปากรครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้พอเห็นเค้าของฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมได้ค่อนข้างชัด

ถัดขึ้นไปเป็นส่วนขององค์เจดีย์แปดเหลี่ยม แบ่งเป็นสี่ชั้นขนาดเท่า ๆ ซ้อนกันอยู่ โดยรอบทั้ง ๘ ด้าน  แต่ละชั้นก่ออิฐฉาบปูนเป็นซุ้ม ใช้เสากรอบซุ้มร่วมกันตรงมุม ภายในซุ้มแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แตกต่างกันไป  

 ปางของพระพุทธรูปในซุ้มจระนำทิศหลัก แตกต่างกับพระพุทธรูปในซุ้มจระนำทิศรอง

ชั้นแรกทำเป็นซุ้มจระนำ ภายในซุ้มประจำทิศหลักทั้งสี่ทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนบนดอกบัว ปางรำพึง ส่วนซุ้มประจำทิศรองประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนบนดอกบัว ปางถวายเนตร

 พระพุทธรูปปางมารวิชัยบนโพธิบัลลังก์

ชั้นที่สอง สาม และสี่ แตกต่างจากชั้นแรก เนื่องจากก่ออิฐฉาบปูนทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว พร้อมด้วยปูนปั้นรูปพญานาคสามเศียรประดับเหนือเสาตรงมุมที่เป็นรอยต่อระหว่างซุ้มในแต่ละด้าน ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิใต้ต้นโพธิ์ ภายในซุ้มชั้นที่สามประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัยบนโพธิบัลลังก์ ส่วนภายในชั้นที่สี่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

 ประติมากรรมปูนปั้นพญานาคสามเศียรประดับเหนือเสามุมของซุ้มเรือนแก้ว



 สภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบันไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก แต่ยังทำให้ผู้ที่ได้มาเยี่ยมชมรู้สึกได้ถึงความงดงาม  อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปถึงภาพเมื่อครั้งเจดีย์องค์นี้ยังมีสภาพสมบูรณ์ว่าจะตระการตาน่าเลื่อมใสขนาดไหน

  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มายังวัดโลกยสุธาราม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย มักจะแค่ลงมาจากรถ ไหว้พระนอนแล้วก็ขึ้นรถกลับไป ประมาณร้อยละ ๙๐ แทบไม่ค่อยมีใครเดินต่อมาทางเจดีย์รายหลังนี้กันเท่าไหร่ มีเพียงนักท่องเที่ยวฝรั่งไม่กี่คนที่มาหยุดยืนชื่นชมอย่างตื่นตาตื่นใจ ทั้งที่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จัดอยู่ในระดับ “หนึ่งเดียวในกรุงเก่า” อีกเช่นกัน

 

ลวดลายปูนปั้นประดับประดาแม้หลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
แต่ยังชี้นำให้เห็นถึงความงดงามได้ในจินตนาการ


เฮือนรถถีบ พิพิธภัณฑ์จักรยานข้ามกาลเวลา




ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑


            จักรยานโบราณน้อยใหญ่รูปร่างประหลาดแปลกตานับร้อยคันเรียงราย ป้ายโฆษณาสมัยเก่า ภายใต้ตัวอาคารโถงชั้นเดียว สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ให้ความรู้สึกคล้ายกับว่าได้ย้อนกาลเวลาเข้าสู่ร้านขายจักรยานเมื่อ หลายทศวรรษก่อน  ยามเมื่อเหยียบย่างเท้าเข้าไปภายในพื้นที่ ๖๐๐ ตารางเมตรของ “เฮือนรถถีบ” พิพิธภัณฑ์รวบรวมจักรยานรุ่นเก่าจากยุโรปหลากหลายรูปแบบเอาไว้ให้ผู้สนใจได้แวะเยี่ยมเยือนชม


             แม้แต่ยานพาหนะของคุณลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ เจ้าของสถานที่ ผู้ซึ่งเดินทางมาเปิดประตูให้อาคันตุกะจากต่างถิ่นอย่างพวกเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่ใช่จักรยานธรรมดา ทว่าเป็นจักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษด้วยระบบการขับเคลื่อนที่ไม่ใช้โซ่ แต่ใช้เพลาซึ่งเป็นแท่งเหล็ก แบบเดียวกับรถยนต์ มีสองเกียร์ และเบรคระบบกดหน้ายาง

            คุณลุงเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง “เฮือนรถถีบ” ขึ้นมา ว่าสมัยเด็กครอบครัวของคุณลุงย้ายจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอเมือง ฯ จังหวัดน่าน เตี่ยของคุณลุงเริ่มประกอบอาชีพด้วยการเปิดร้านรับซ่อมจักรยานชื่อ “เต็งไตรรัตน์” และค้าขายด้วยการซื้อเกลือและข้าวของเครื่องใช้ประจำวันนำมาแลกกับข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเตี่ยของคุณลุงได้ติดต่อกับห้างเซ่งง่วนฮง (สิทธิผล) จำกัด ในกรุงเทพ ฯ  ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ การ์เซีย โรบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัดสัน ฯลฯ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในเมืองน่าน


การขนส่งจักรยานจากกรุงเทพ ฯ มาขายที่เมืองน่านเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อนนั้น ใช้วิธีแยกส่งเป็นชิ้นส่วนย่อยมาทางรถไฟ แล้วจึงค่อยนำมาประกอบเป็นส่วนต่าง ๆ  ที่ร้านเต็งไตรรัตน์ ตั้งแต่การสานซี่ลวดล้อจักรยาน ขึ้นโครงรถ ติดตั้งเบรก อานเบาะ จนเสร็จสมบูรณ์เป็นจักรยานทั้งคัน พร้อมจำหน่ายให้กับลูกค้า คุณลุงสุพจน์ได้เป็นลูกมือช่วยงานเตี่ยในการประกอบจักรยานจนเชี่ยวชาญ คุ้นเคยกับทุกชิ้นส่วนจักรยานเหมือนกับเพื่อนสนิท ในขณะกิจการรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ

กาลเวลาผ่านไป การค้าขายรถจักรยานเริ่มซบเซา ขายได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้คนชาวน่านหันไปใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์กันมากขึ้น  ร้านเต็งไตรรัตน์จึงจำเป็นต้องเลิกขายจักรยาน เก็บชิ้นส่วนทั้งหลายที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลงกล่องใส่ตู้ แล้วหันมาขายรถมอเตอร์ไซค์แทน คุณลุงสุพจน์เองในที่สุดก็ได้ปรับเปลี่ยนมาดำเนินกิจการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ในอำเภอเวียงสา เรื่องราวของจักรยานถูกเก็บไว้เพียงในความทรงจำ


กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นที่จังหวัดน่าน เมื่อน้ำลดลงแล้ว คุณลุงสุพจน์ ได้กลับไปที่บ้านเดิมในตัวเมืองน่าน เพื่อช่วยเก็บกวาดเช็ดล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่จมน้ำอยู่หลายวัน และได้พบว่ามีชิ้นส่วนจักรยานจำนวนมากที่ยังอยู่ในสภาพดี ถูกเก็บถาวรจนลืมอยู่ในห้องเก็บของ ทำให้หวนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก ครั้งยังคลุกคลีอยู่กับชิ้นส่วนและการประกอบจักรยานจนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะเก็บรวบรวมรถจักรยานโบราณ โดยเฉพาะที่ผลิตจากยุโรป หลากรุ่น หลายยี่ห้อ นับจากนั้นจึงเริ่มทยอยตามหา ซื้อชิ้นส่วนมาสะสมไปพลาง ประกอบไปพลาง จนสามารถสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ “เฮือนรถถีบ” อันน่าตื่นตาอย่างที่เห็น

            ดาวเด่นเห็นจะเป็นจักรยานล้อโตอายุกว่า ๑๓๐ ปี ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “จักรยานจิงโจ้” ด้วยลักษณะล้อหน้าขนาดใหญ่สูงท่วมหัว ในขณะที่ล้อหลังมีขนาดเล็ก เป็นจักรยานยุคแรกที่ยังไม่รู้จักการใช้ระบบโซ่และเฟือง จึงต้องถีบเคลื่อนจากแกนล้อโดยตรง จำเป็นต้องมีล้อขนาดใหญ่เพื่อให้ถีบได้ระยะทาง ขี่ค่อนข้างลำบากเพราะต้องปีนป่ายขึ้นไปขี่ ก่อนจะพัฒนามาเป็น “จักรยานไทรดอน” ที่มีขนาดสองล้อหน้าหลังเท่ากัน โดยนำเฟืองและโซ่มาใช้ช่วยให้ลดแรงถีบ เหนื่อยน้อยกว่าและสะดวกกว่า แบบที่ใช้กันอยุ่ในปัจจุบัน

จักรยานซึ่งน่าสนใจด้วยรูปแบบใช้งานก็มีอยู่หลายคัน เช่น จักรยานตราปืนไรเฟิลสามกระบอก หรือ จักรยาน BSA (ย่อมาจาก Bermingham Small Arms) ของอังกฤษ เป็นจักรยานพับรุ่นแรกของโลก ออกแบบเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยให้ทหารพลร่มสามารถพับตัวรถสะพายหลัง เมื่อโดดร่มลงในพื้นที่แล้วก็กางจักรยานนี้ออกเป็นพาหนะได้ จักรยานดับเพลิงตัวถังสีแดงที่ออกแบบให้ตรงช่วงกลางรถเป็นวงโค้งสามารถม้วนเก็บท่อน้ำดับเพลิงไว้ภายใน เมื่อจะใช้ก็นำออกมาต่อกับท่อน้ำประปา โดยมีไซเรนหรือ “หวอ” แบบมือปั่นติดอยู่เหนือบังโคลนหน้า  

รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ของจักรยาน ก็น่าสนุกไม่แพ้กัน เช่นไฟหน้ารถ ในยุคที่ยังไม่มีหลอดไฟใช้ โคมไฟที่อยู่หน้ารถจักรยานมีทั้งที่ใช้เทียนไขจุดไว้ภายใน ตะเกียงที่ใช้ทำเป็นไฟหน้ารถ มีการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ตะเกียงแก๊ส เช่นเดียวกันกับแตรหน้ารถจักรยานมีหลากหลายรูปแบบมีทั้งแตรลม กระดิ่ง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการซ่อมจักรยานต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับจักรยานในอดีต จัดแสดงไว้อย่างมากมาย

คนรักจักรยานหากได้แวะเวียนเข้ามาใน “เฮือนรถถีบ” แห่งนี้แล้ว เวลาสองสามชั่วโมงยังต้องบอกว่าน้อยเกินไปจริง ๆ

คู่มือนักเดินทาง

เฮือนรถถีบ ตั้งอยู่หลังปั๊มน้ำมันเชลล์ เลขที่ ๑๕๔ หมู่ ๔ ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  เปิดให้เข้าชมเป็นสองรอบ รอบเช้าในเวลา ๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ นาฬิกา และรอบบ่าย ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม โดยผู้เข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๔๗๘ ๑๓๕๙