Friday, January 17, 2020

จวนเจ้าเมืองระนอง เรื่องน่ารู้มากมายภายในกำแพง




ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๒

            “ในค่าย” คือชื่อที่ชาวระนองโดยทั่วไปใช้เรียกขานจวนเจ้าเมืองระนอง ซึ่งมีความแปลกแตกต่างจากจวนเจ้าเมืองโดยทั่วไป เนื่องจากอาณาบริเวณพื้นที่ ๓๗ ไร่อันร่มรื่นด้วยแมกไม้ มีกำแพงก่ออิฐถือปูนลักษณะเหมือนป้อมปราการล้อมรอบไว้อย่างแน่นหนา

 พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง

จวนเจ้าเมืองระนองนี้เป็นนิวาสสถานดั้งเดิมของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี เจ้าเมืองระนองคนแรกผู้เป็นต้นตระกูล “ณ ระนอง”  ชื่อเดิมของท่านคือ “คอซู้เจียง” เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยมาประกอบกิจการแร่ดีบุกซึ่งมีมากในพื้นที่ภาคใต้ แล้วต่อมาจึงได้ประมูลเป็นนายอากร เก็บค่าอากรดีบุกส่งเข้าท้องพระคลัง ได้รับบรรดาศักดิ์แรกเป็นหลวงรัตนเศรษฐี ก่อนจะสร้างความดีความชอบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในท้ายที่สุดได้รับการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี เจ้าเมืองระนองในที่สุด

บุตรของท่านทั้ง ๖ คนต่อมาล้วนได้เข้ารับราชการจนเป็นขุนนางระดับสูงทั้งสิ้น ได้แก่ หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง (คอซิมเจ่ง) พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลเมืองชุมพร  (คอซิมก๊อง)   หลวงศรีสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง (คอซิมจั๋ว) พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองกระบุรี (คอซิมขิม) พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ช่วยราชการเมืองหลังสวน (คอซิมเต็ก) และพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

 สภาพปัจจุบันของจวนเจ้าเมืองระนองหลังแรก 

 จวนเจ้าเมืองหลังแรกเมื่อครั้งใช้เป็นเรือนรับรอง

อาคารจวนเจ้าเมืองระนองหลังแรกได้ถูกสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. ๒๔๒๐ โดยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) บุตรคนที่ ๒  เป็นการสร้างด้วยอิฐสอปูนสดแบบจีน ก่อผนังรับน้ำหนักหนาถึง ๖ นิ้ว โครงบนทำด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง แต่เมื่อสร้างใกล้เสร็จจึงเห็นว่าอยู่ใกล้กับประตูทางเข้าออกเกินไปไม่เหมาะต่อการพักอาศัย จึงเปลี่ยนไปใช้เป็นเรือนรับรองสำหรับรับแขกที่มาเยือน ปรากฏหลักฐานที่ทำให้ทราบว่าอาคารหลังนี้เคยใช้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระศรีเสาวรินทิราบรมราชินี  และสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  เมื่อคราวเสด็จ ฯ ประพาสแหลมมลายู เมื่อ รศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓)  โดยมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ถึงสภาพภายในจวนที่ทอดพระเนตรเห็นในขณะนั้นว่า

"...ที่กลางบ้านทำตึกหลังหนึ่งใหญ่โตมาก แต่ตัวไม่ได้ขึ้นอยู่ เป็นแต่ที่รับแขกและคนไปมาได้อาศัย ตัวเองอยู่ที่เรือนจากเตี้ย ๆ เบียดชิดกันแน่นไปทั้งครัวญาติพี่น้อง รวมอยู่แห่งเดียวกันทั้งสิ้น มีโรงไว้สินค้าปลูกริมกำแพงยืดยาว ในบ้านนั้นก็ทำไร่ปลูกมัน ปีหนึ่งได้ถึงพันเหรียญ เป็นอย่างคนหากินแท้...”

จากกาลเวลาที่ยาวนานนับร้อยปี อาคารหลังนี้ได้พังทลายลงเหลือเพียงส่วนฐานและผนังชั้นล่างบางส่วน ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและสร้างหลังคาขนาดใหญ่ครอบทับไว้อย่างดี 

 ศาลบรรพบุรุษตระกูล ณ ระนอง สร้างขึ้นในบริเวณจวนเจ้าเมืองหลังที่สองที่ผุพังไป


 จวนเจ้าเมืองหลังที่สองเมื่อครั้งยังมีสภาพสมบูรณ์

            ส่วนจวนเจ้าเมืองหลังที่สองสร้างขึ้นในเวลาถัดมา เป็นสถาปัตยกรรมไม้สูงสี่ชั้น ชั้นล่างเป็นหลังคาเชื่อมต่อกัน ๓ หลังอย่างงดงาม เป็นสถานที่พำนักอาศัยของเจ้าเมืองระนอง คือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) และทายาท (คอยู่หงี) มีชื่อเรียกว่า“ซินจู๊ “โดยปรากฏภาพถ่ายเป็นหลักฐานอยู่ที่ในวังวรดิฐที่กรุงเทพฯ น่าเสียดายที่จวนไม้งามหลังนี้ภายหลังถูกปลวกกัดกินจนผุพัง จำเป็นต้องรื้อทิ้ง ปัจจุบันจึงคงหลงเหลือเพียงส่วนฐานและเสาปูนให้ได้เห็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามต่อมาพื้นที่บางส่วนของจวนได้ถูกบูรณะดัดแปลง สร้างเป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เป็นศาลบรรพบุรุษตระกูล ณ ระนอง สำหรับประกอบพิธีสักการะบูชาป้ายบรรพบุรุษตามประเพณี

 ป้ายจารึกอักษร "ดวงตะวันอันสูงส่ง" 

เหนือประตูศาลบรรพบุรุษติดป้ายประจำตระกูลแกะสลักจากไม้ขนาดใหญ่ มีตัวหนังสือจีนสีดำบนพื้นสีทองสองตัว ข้อความว่า “เกา หยาง”  คำว่า เกา แปลว่า สูง คำว่าหยาง แปลว่า ดวงอาทิตย์ จึงรวมแปลความหมายได้ว่า "ดวงตะวันอันสูงส่ง" ยังมีตัวอักษรเล็ก ๆ อยู่ตรงมุมป้ายว่า “กิมเง็กหมัวตึ๊ง” แปลว่า “มากด้วยแก้วแหวนเงินทอง” และ “ฮกลกซิ่วจ้วง” แปลว่า “มากด้วยขุนนาง” ในขณะที่บนพื้นหลังสีทองนั้นยังแกะสลักด้วยรายละเอียดมากมาย โดยมีทั้งรูปค้างคาว ซึ่งตามความเชื่อของคนจีนถือว่าเป็นสัตว์ที่สูงส่ง เนื่องจากกินนอนและอาศัยอยู่ในที่สูงตลอดเวลา ว่ากันว่าบนแผ่นป้ายนี้มีรูปค้างคาวอยู่ทั้งหมดถึง ๕๒ ตัว นอกจากนี้ยังมีรูปก้อนเมฆ และรูปของขวัญที่มีอยู่ ๓ ชิ้น คือ ซองเอกสารหมายถึงพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง กระเป๋าใส่เงินหมายถึงฐานะร่ำรวย และอาวุธหมายถึงอำนาจ
 ภายในศาลบรรพบุรุษตระกูล ณ ระนอง
 ศิลาจารึกประกาศเกียรติคุณ

              ภายในศาล กึ่งกลางห้องด้านในสุดตั้งโต๊ะสักการะบูชาป้ายบรรพบุรุษ ด้านหน้าตู้มีป้ายขนาดใหญ่จารึกข้อความภาษาจีนว่า “หลิ่งล่องจงต๊อก” แปลว่า “ผู้บัญชาการสูงสุดของเมืองระนอง” บนผนังตู้ประดับพวงหรีดเงินและพวงหรีดทองที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระชายาทรงส่งมาร่วมงานพิธีศพ
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี  (คอซู้เจียง) ยังมีกล้องยาสูบขนาดยาวพิเศษของท่านคอซู้เจียง ที่มักเห็นปรากฏอยู่ในภาพถ่ายร่วมกับท่านเสมอ  รวมทั้งโคมไฟโบราณแบบชักรอกปรับระดับได้ แบบเดียวกับที่ใช้ในพระราชวังรัตนรังสรรค์ แขวนไว้ด้านหน้าโต๊ะ ด้านหนึ่งตั้งป้ายศิลาจารึกเกียรติประวัติพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมตั้งไว้หน้าสุสานเจ้าเมืองระนอง แต่ถูกรถบรรทุกชนแตกเป็นสามส่วนเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๓ เมื่อซ่อมแซมแล้วจึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่นี่

 คุณโกศล ณ ระนอง ทายาทรุ่นที่ ๕
 จานพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

ในตู้ไม้โบราณแบบยุโรปหลังใหญ่ด้านในยังมีโบราณวัตถุที่เป็นมรดกตกทอดกันมาเก็บรักษาไว้ แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่มีจุดเด่นที่ลูกเล่นและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ คุณโกศล ณ ระนอง (คอเฉ่ง) ทายาทตระกูล ณ ระนอง รุ่นที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่อยู่ มักจะนำออกมาให้ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมได้สัมผัส พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นมาให้ฟังอย่างไม่รู้เบื่อ  เช่น จานมีรูใส่น้ำร้อนไว้ภายในจานสำหรับอุ่นอาหารในตัวทำจากฝรั่งเศส จานเชิงที่มีภาพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ กษัตริย์แห่งอังกฤษ ฯลฯ

 อาคารนิทรรศการ

 ภายในอาคารนิทรรศการ

ใกล้กับศาลบรรพบุรุษยังมีอาคารชั้นเดียวอีกหลังหนึ่งเรียกว่าอาคารนิทรรศการ ซึ่งโดยปกติจะไม่ได้เปิดให้ชมทั่ว ๆ ไป ต้องเฉพาะผู้ที่สนใจจริง ๆ เท่านั้นจึงจะขอให้เปิดเข้าไปชม ภายในเป็นที่จัดแสดงแบบจำลองในสภาพสมบูรณ์ของพระราชวังรัตนรังสรรค์ทำด้วยไม้ทั้งหลัง ทั้งยังมีแบบจำลองของจวนเจ้าเมืองระนอง เรือนรับรอง รวมทั้งอาคารอื่น ๆ ที่อยู่ภายในบริเวณกำแพงของจวน เช่น โกดังเก็บของ อาคารสิบห้าห้อง ที่ทางกรมศิลปากรได้สร้างขึ้นโดยสันนิษฐานจากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่

 บ่อน้ำโบราณ

ภายนอกอาคารเองก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าชม ซึ่งนอกเหนือจากซินจู๊หรือจวนเจ้าเมือง เรือนรับรอง และอาคารนิทรรศการแล้ว ยังมีร่องรอยของบ่อน้ำโบราณอยู่หลายบ่อ รวมถึงแนวท่อน้ำที่สันนิษฐานกันว่าในสมัยก่อนภายในจวนเจ้าเมืองได้มีการต่อท่อนำน้ำแร่จากบ่อน้ำพุร้อนระนองมาใช้ภายในจวนด้วย 

 แนวกำแพงรอบจวนใต้ร่มเงาไม้ยังคงแข็งแรง

และที่ลืมไม่ได้คือกำแพงจวนเจ้าเมืองที่ก่อด้วยอิฐอันเป็นที่มาของชื่อเรียก “ในค่าย” ตามประวัติได้บันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ในเมืองระนองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ โดยเกิดดีบุกราคาตกทำให้เจ้าของเหมืองไม่มีเงินพอจ่าย กรรมกรชาวจีนเหมืองในจึงไม่พอใจก่อการจลาจลขึ้น 

ครั้งนั้นเจ้าเมืองระนองได้ต่อสู้ป้องกันรักษาศาลากลางอันเป็นศูนย์กลางการปกครองไว้ได้สำเร็จ กลุ่มจลาจลชาวจีนเมื่อไม่สามารถปล้นเงินราชการได้ ก็เดินทางออกไปก่อเหตุต่อที่เมืองภูเก็ต   

 หลังเหตุการณ์สงบลงจึงได้คิดสร้างกำแพงขึ้นล้อมรอบจวนเจ้าเมืองระนอง โดยเป็นการเตรียมการไว้เผื่อเกิดจลาจลขึ้นอีก จะได้อพยพชาวเมืองเข้ามาอยู่ในแนวกำแพงซึ่งมีพื้นที่ ๓๗ ไร่ เพื่อต่อสู้ป้องกันได้สะดวกขึ้น

 ช่องสำหรับสอดปืนออกไปยิงด้านนอกกำแพง

 ตัวกำแพงมีความยาวโดยรอบรวม  ๙๕๔  เมตร สูง  ๓.๕ เมตร หนา ๕๐ เซนติเมตร มีประตูเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ โดยประตูจะมีลักษณะเป็นหอคอยรบขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นมีช่องสี่เหลี่ยมอยู่ตลอดแนวกำแพง โดยมีอิฐแผ่นบาง ๆ ปิดไว้ เป็นช่องสำหรับสอดปืนออกไปยิงศัตรูที่อยู่ด้านนอกได้ 

กำแพงที่เห็นอยู่ในปัจจุบันบางส่วนมีการซ่อมแซมบูรณะขึ้นมาใหม่แทนของเก่าที่พังไปตามกาลเวลา แม้ไม่ได้ถูกใช้ในการรบจริง เนื่องจากหลังจากนั้นไม่เคยเกิดการจลาจลขึ้นในเมืองระนองอีกเลย แต่ปัจจุบันภายในวงล้อมของกำแพงแห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของเมืองระนองที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาดชมไปแล้ว

 อาคารคลังเก็บสินค้าในอดีต


คู่มือนักเดินทาง

จวนเจ้าเมืองระนอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเส้นถนนเรืองราษฏร์ ตัดเข้าถนนกิจผดุง ใกล้กับตลาดเช้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตลาดสะพานยูง”  เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐นาฬิกา โดยไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณโกศล ณ ระนอง โทรศัพท์ ๐๘ ๑๙๕๖ ๐๐๐๘

จวนเจ้าเมืองระนองอยู่ในฮวงจุ้ยที่ดี


No comments:

Post a Comment