Thursday, March 19, 2020

เรียงร้อยอดีตบนเส้นเวลา ณ พิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน



 ลูกปัดจำลองขนาดใหญ่หลากรูปแบบหลายสีสัน

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

               หลายคนอาจไม่เคยนึกว่าลูกปัดเม็ดเล็ก ๆ  ที่เราใช้เป็นเครื่องประดับกันนั้นจะสามารถใช้ศึกษาความเป็นมาของมนุษยชาติได้

            แต่ที่กลางเมืองกระบี่ รอยอดีตที่ปรากฏอยู่บนลูกปัดถูกนำมาไขข้อมูลที่เก็บซ่อนเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราวย้อนหลังไปนับพันปีได้อย่างแจ่มชัดราวกับมีเครื่องย้อนกาลเวลากลับไปก็ไม่ปาน

 อาคารพิพิธภัณฑ์ลูกปัด

            พิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน ตั้งอยู่ที่อาคาร A ภายในอาณาบริเวณของ “ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน” ที่ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นประยุกต์ทั้งหมด ๕ หลังบนพื้นที่กว่า ๗ ไร่ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๗ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่ม ๕ จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน อันได้แก่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และตรัง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกระบี่  

ภายในพิพิธภัณฑ์เน้นนำเสนอเรื่องราวของลูกปัดโบราณ ในฐานะหลักฐานจากอดีตอันสะท้อนถึงเส้นทางการค้าทางทะเลสมัยโบราณในภาคใต้ของไทยสมัยโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่ตกทอดผ่านกาลเวลามาจนถึงยุคปัจจุบัน จัดนิทรรศการถาวรแบ่งเป็น ๗ ห้องตามจำนวนหัวข้อ ให้เดินชมแบบเป็นเส้นทางวงรอบ  ล้วนแต่ตื่นตาด้วยการตกแต่งประดับประดาอย่างน่าสนใจ

ประตูทางเข้าอุโมงค์แห่งเวลา ตกแต่งด้วยลูกปัดจำลองยักษ์สีทอง
เรื่องราวประวัติความเป็นมาของลูกปัดบนเส้นทางการค้าโลกทางทะเล

 ทางเดินเริ่มจากอุโมงค์แห่งเวลาทำด้วยลูกปัดสีทองขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล เข้าไปยังห้องแรกคือห้องประวัติความเป็นมาของลูกปัด นำเสนอลำดับพัฒนาการของลูกปัดจากอดีตที่เก่าแก่ที่สุดไล่เรียงมาตามลำดับ ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีสรุปได้ว่าวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้ทำลูกปัดแรกเริ่มคือ ดิน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น กระดูกสัตว์ เขาสัตว์ งาสัตว์ เขี้ยวและฟันสัตว์ เปลือกหอย รวมถึงปะการัง โดยเมื่อราวสี่หมื่นห้าพันปีก่อนมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้นำวัสดุเหล่านี้มาปั้น ขัด ฝน หรือตัดเป็นแท่งเล็ก ๆ  แล้วเจาะรูร้อยเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องประดับ ก่อนจะหันมาใช้วัสดุประเภทหินสี หินมีค่า เช่น อาเกต คาร์เนเลียน ฯลฯ

 ต่อมาในยุคสำริด ยุคเหล็ก จึงพัฒนากรรมวิธีขึ้นอีก ด้วยการหลอมโลหะมาทำเป็นลูกปัด โดยเฉพาะลูกปัดแก้วที่มีเทคนิคในการทำที่สลับซับซ้อนและสวยงามสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นได้เมื่อสองพันปีที่แล้ว แหล่งผลิตลูกปัดแก้วที่สำคัญของโลกพบว่ามีอยู่สามแหล่ง คือ อียิปต์  โรมัน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง  ตลอดเวลาอันยาวนานลูกปัดยังคงได้รับการพัฒนาทั้งวัสดุและกรรมวิธีในการผลิตมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

 ห้องประวัติศาสตร์ลูกปัดภาคใต้

 แผนที่เส้นทางการค้าทางทะเลโบราณของโลกขนาดใหญ่นำทางมายังห้องประวัติลูกปัดในประเทศไทย นำเสนอลูกปัดโบราณที่ขุดพบมากมายในประเทศไทย โดยลูกปัดเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี ทำขึ้นในยุคหินใหม่ อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดจากการทำการค้าขายทางทะเลกับอาณาจักรโรมัน อินเดีย รวมทั้งจีน

 “บันทึกประวัติศาสตร์ลูกปัดในภาคใต้” คือหัวข้อที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากค้นพบลูกปัดจากเมืองท่าโบราณหลายต่อหลายแห่งทางภาคใต้ทั้งสองฟากฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งทะเลอันดามันที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ที่เกาะคอเขา (เขาหลัก) จังหวัดพังงา ที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือทางฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และที่อำเภอท่าชนะ ที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 รูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำลูกปัด

ลูกปัดที่พบมีความเก่าแก่และหลากหลาย ในด้านของวัสดุที่ใช้ เช่น หินคาร์เนเลี่ยน อาเกตหลากสี ควอทซ์ แลปิส อาร์เมทิส แก้ว โลหะ รวมไปถึงทองคำ ซึ่งในห้องนี้ได้จัดแสดงวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในตู้ให้ชมในมุมหนึ่ง พร้อมด้วยขั้นตอนและกรรมวิธีในการทำลูกปัดโดยละเอียด

  ส่วนในด้านของรูปแบบยังพบลูกปัดที่มีรูปแบบเฉพาะหาได้ยากเช่น “ลูกปัดลายแทงสวรรค์” หรือกุญแจเทพ ทำเป็นสัญลักษณ์รูปค้างคาวที่คนจีนเรียกว่า “ฮก” ถือเป็นสัตว์วิเศษเพราะทั้งบินได้และเดินได้ มีอายุยืน “ลูกปัดอักษรปัลลวะ” ในภาษาสันสกฤตที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง ๑ เซนติเมตร “ลูกปัดมังกรหยกขาว” เครื่องรางของจักรพรรดิ์จีน “ลูกปัดสุริยเทพ” ลูกปัดแก้วที่ใช้สีขาว สีดำ และสีดำ เขียนเป็นรูปหน้าคนคล้ายอินเดียนแดง นอกจากนี้ยังมีลูกปัดแก้วและหินที่มีลวดลายเป็นแบบเฉพาะ ลูกปัดแก้วแบบต่าง ๆ เช่น ลูกปัดตา ลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดมีขั้ว และลูกปัดแบบเกลียว   

ความหลากหลายของรูปแบบและสีสันอันงดงามนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองแบบขยายส่วนขึ้นมาเป็นลูกปัดนานาชาติ ขนาดน้อยใหญ่ ผสมผสานหลากสีสันและรูปแบบ ติดเรียงรายเป็นแถวไว้บนผนังให้ผู้เยี่ยมชมได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันด้วย

 ห้องแฟชั่นลูกปัด

เข้าสู่ห้องแฟชั่นลูกปัด เรียงรายด้วยเสื้อผ้าหลากสไตล์ และหุ่นแสดงแบบเสื้อในเครื่องแต่งกายต่าง ๆ อยู่ในตู้ติดผนัง เป็นการนำเสนอลูกปัดในฐานะเครื่องประดับที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ได้นำลูกปัดมาร้อยเรียงต่อกันเพื่อประดับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตกแต่งศีรษะ เส้นผม จมูก ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มขัดหรือสร้อยรอบเอว สร้อยข้อเท้า ตามความนิยมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น  ทั้งยังหมายถึงการบ่งบอกฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย และแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานหลายพันปี ลูกปัดก็ยังคงได้รับความนิยมในการนำมาเป็นเครื่องประดับอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

 จอวิดีทัศน์ขนาดใหญ่ริมทางเดิน
 ห้องลูกปัดล้ำค่า จัดแสดงลูกปัดที่ขุดพบจากแหล่งต่าง ๆ ในตู้อย่างสวยงาม

ทางเดินผ่านห้องมืดที่มีจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่หมุนเวียนด้วยวิดิทัศน์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่ แล้วจึงเข้าสู่ห้องลูกปัดล้ำค่า ภายในออกแบบเป็นโถงใหญ่ที่มีประติมากรรมรูปศีรษะบุคลที่มีรูปมือแสดงท่ามุทราจีบนิ้วชี้กับนิ้วกลางอันมีความหมายถึงความร่ำรวยหรืออุดมสมบูรณ์อยู่กึ่งกลางห้อง ประดับด้วยไฟสีสันสวยงาม จัดแสดงลูกปัดโบราณอันทรงคุณค่าที่ขุดค้นพบจากแหล่งต่าง ๆ ไว้ในตู้กระจกที่เรียงรายอยู่โดยรอบ

 ลูกปัดนำมาออกแบบเป็นรูปร่างต่าง ๆ
 ลูกปัดกับความเชื่อ

ต่อเนื่องกันเป็นห้องลูกปัดและความเชื่อลูกปัด นำเสนอลูกปัดในฐานะสิ่งที่ผู้คนเคารพนับถือ ลูกปัดที่ใช้เป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งลูกปัดที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ   รูปทรงและลวดลายของลูกปัดที่มีความหมายเหมาะสมกับดวงชะตาราศีของแต่ละคน  มุมหนึ่งยังมีระบบมัลติมีเดียพยากรณ์ดวงชะตาตามราศีผ่านลูกปัดแก้ววิเศษให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ลองทดสอบความแม่นยำ

 โมบายขนาดใหญ่

โมบายคริสตัลขนาดใหญ่คือสัญลักษณ์ของห้องลูกปัดในอนาคต ประติมากรรมลูกปัดผลึกแก้วนี้แขวนเด่นเป็นสง่าจากเพดานลงสู่เบื้องล่างที่เป็นภาพดวงดาวต่าง ๆ ในรูปแบบลักษณะของระบบสุริยะจักรวาล โดยบนผนังยังทำเป็นกล่องอครีลิคบรรจุลูกปัดหลากสีสันรายล้อมอยู่มากกว่า ๑,๕๐๐ เม็ดเปรียบเสมือนดวงดาว สื่อถึงโลกในอนาคตที่มนุษยชาติมุ่งหน้าออกสู่จักรวาลอันไพศาล ก่อนจะทางเดินจะวกไปยังห้องThank you zone ที่ตกแต่งด้วยวงโลหะขัดเงาวาววับสะท้อนแสงไฟหลากสี อันเป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึกสุดท้ายก่อนถึงทางออก

 ห่วงโลหะสะท้อนแสงวิบวับ
 จุดถ่ายภาพที่ระลึกก่อนถึงทางออก

หากยังติดใจเรี่องราวของลูกปัด ออกจากนิทรรศการเดินตรงไปจนสุดทาง ยังมีอาคารสาธิตการผลิตลูกปัดอันดามัน นำเสนอวิธีการทำลูกปัดตามแบบโบราณ โดยช่างฝีมือของเทศบาลเมืองกระบี่ ให้ผู้สนใจได้ร่วมศึกษา เรียนรู้กระบวนการ  ตลอดจนยังสามารถร่วมทดลองทำเอง ให้รู้ว่ากว่าจะเป็นลูกปัดแต่ละเม็ดต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ มากมายขนาดไหนอีกด้วย



คู่มือนักเดินทาง
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ตั้งอยู่ที่ถนนมหาราช ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ ๘๑๐๐๐ เปิดทำการเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา วันจันทร์-เสาร์ (หยุดบริการทุกวันอาทิตย์ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์) ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐๘ ๓๔๒๖ ๗๓๙๔ หรือ ๐ ๗๕๖๒ ๑๓๕๙  โทรสาร ๐ ๗๕๖๒ ๑๓๕๙ เว็บไซต์ : http://www.museumkrabi.com/




Wednesday, March 4, 2020

เยี่ยมชมมหาสมบัติในมหารัชมงคลมหาเจดีย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

 ความงดงามอลังการของชั้นบนสุด อันเป็นที่ตั้งของพระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๓

            นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เดินกันอยู่ขวักไขว่ภายในบริเวณ ดูเหมือนจะช่วยยืนยันข้อมูลที่ได้มาเป็นอย่างดีว่า “มหารัชมงคลมหาเจดีย์” เป็น ๑ ใน ๑๐ รายชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอาทิตย์อุทัยเมื่อมาเยือนประเทศไทยต้องไม่พลาดการเยี่ยมชม

            น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเองกลับยังไม่ค่อยรู้จักสถานที่แห่งนี้กันเท่าใดนัก

 มหารัชมงคลมหาเจดีย์ ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและรัตนโกสินทร์เข้าด้วยกัน

            มหารัชมงคลมหาเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรี ปรากฏหลักฐานตามเอกสารว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) โดยเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏพระนามชัดเจน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๘ ก่อนยกฐานะเป็นพระอารามหลวงประจำหัวเมืองธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ (อยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ล่วงมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระสมุห์สด จนฺทสโร จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิบัติกรรมฐานพุทธานุสติที่เรียกว่า “วิชชาธรรมกาย” ทำให้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กลับมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ด้วยความสูงถึง ๘๐ เมตร พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลจึงมีความสูงมากกว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่มีความสูง ๗๘ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๕๐ ตารางเมตร หรือ ๑ ไร่เศษ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนากับรัตนโกสินทร์ คือจากยอดเจดีย์ลงมาถึงองค์ระฆังถอดแบบจากเจดีย์ประธานวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกลางขององค์เจดีย์ลงมาถึงฐานเก้าชั้นด้านล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้สิบสองถอดแบบจากพระปรางค์วัดอรุณฯ

ปลียอดหุ้มด้วยทองคำ น้ำหนักสุทธิ ๑๐๙,๒๒๐.๕ กรัม หรือประมาณ ๑๐๙ กิโลกรัม ยังมีแผ่นทองคำน้ำหนักประมาณ ๕ กิโลกรัม กว้าง ๙.๙ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔.๙ เซนติเมตร จารึกข้อความว่า “สติ มตฺตญฺญุตา ชาตา” แปลว่า “สติเป็นเหตุให้เกิดความประมาณตน” และ “ปญฺจสีลํ สุรกฺขิตํ โลกสฺสตฺถิ สนฺติสุขํ” แปลว่า “ศีลห้าที่รักษาดีแล้ว ย่อมมีสันติสุขแก่ชาวโลก” ใช้งบประมาณจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างรวมกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๗ ปี ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔

วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ บูชาพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และเป็นอนุสรณ์สถาน เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เชิดชูศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย เอกลักษณ์ของชาติให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

คำว่า “มหารัช” แปลว่า “แผ่นดินที่ยิ่งใหญ่” กล่าวคือ รัชกาลของทั้งสองพระองค์ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชนไว้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งยังพ้องกับสมณศักดิ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วรปุญญมหาเถระ) ของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญอีกด้วย

 เจดีย์จำลองในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างสุด

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่พระมหาเจดีย์นี้ไม่ได้ทึบตันเหมือนเจดีย์โบราณ แต่ได้จัดสร้างภายในเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้รวม ๕ ชั้น ดังนี้ ชั้นที่ ๑ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ชั้นที่ ๒ ห้องปฏิบัติธรรม รองรับได้ ๑,๐๐๐ คน ชั้นที่ ๓ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของส่วนตัวของท่านเจ้าอาวาส เช่น นาฬิกา ไม้เท้า และของที่ระลึกที่ได้รับถวายจากหน่วยงานต่าง ๆ และจากพุทธศาสนิกชน ชั้นที่ ๔ ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ในอดีต ชั้นที่ ๕ เป็นชั้นสูงสุด กึ่งกลางเป็นโดมใหญ่ประดิษฐานพระเจดีย์แก้ว

 ตาลปัตรและพัดยศนับร้อยที่นำมาจัดแสดงไว้
 ตาลปัตรที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๓

สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์น่าชมเป็นพิเศษ คือ ตาลปัตรและพัดยศ ที่จัดแสดงไว้ในทุกชั้น รวมมากกว่าสามพันเล่ม โดยเฉพาะชั้นแรกจัดแสดงตาลปัตรที่ได้รับพระราชทานจากพระบรมวงศ์ใส่ในตู้อย่างดี แบ่งประเภทตามพระนามแต่ละพระองค์ที่พระราชทาน ซึ่งจากบันทึกของทางวัด ตาลปัตรเล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือตาลปัตรจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุร้อยกว่าปี ในขณะที่ตาลปัตรสำคัญเล่มใหม่ล่าสุดคือตาลปัตรที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒ รัชกาลปัจจุบัน

 คัมภีร์ใบลานมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องเมืองนรก

คัมภีร์ใบลานในทางพุทธศาสนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีค่าคู่ควรชม เป็นคัมภีร์เก่าแก่แต่โบราณที่เป็นสมบัติตกทอดของวัด หาดูชมได้ยาก มีทั้งแบบสมุดไทยที่ประดับด้วยการลงรักปิดทอง และแบบภาพวาดจิตรกรรมประกอบเนื้อหาไว้อย่างสวยงาม คัมภีร์แต่ละเล่มยังบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรและภาษาที่แตกต่างกันออกไป จัดแสดงไว้ให้ชมในตู้กระจกซึ่งเรียงรายใกล้กับด้านประตูทางเข้าชั้นที่ ๑

 พระพุทธรูปนาคปรกแบบแปลกตาในพิพิธภัณฑ์ชั้น ๒ 

เช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปโบราณที่จัดแสดงอยู่จำนวนมากในห้องสังฆคุณารมณ์ ชั้น ๓ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์อีกชั้น มีตั้งแต่พระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมาตั้งแต่แรกสร้าง อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ และพระพุทธรูปในสมัยหลังลงมาถึงปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ก็มีหลากหลาย เช่น พระพุทธรูปหล่อจากโลหะ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ทั้งยังมีความหลากหลายในรูปแบบศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปศิลปะลาว พระพุทธรูปศิลปะพม่า พระพุทธรูปศิลปะลังกา พระโพธิสัตว์ศิลปะจีน ฯลฯ

 รูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) หล่อด้วยทองคำ

ห้องธัมมคุณารมณ์บนชั้นที่ ๔ คืออีกจุดที่น่าชม เนื่องจากกึ่งกลางห้องภายในกระจกที่กั้นรอบด้านประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ขนาดเท่าครึ่งขององค์จริง สร้างถวายโดยพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและคณะ ด้วยการหล่อขึ้นจากทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๑,๐๐๐ กิโลกรัม (๑ ตัน) นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐานรูปเหมือนบูรพาจารย์ของวัดและของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ได้แก่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดสามพระยา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถระ ป.ธ. ๙) วัดปากน้ำ

 การตกแต่งอันตระการตาของชั้นบนสุดที่ประดิษฐาน "พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล" 

ชั้นบนสุดคือชั้น ๕ เป็นโถงกว้าง กึ่งกลางเพดานทำเป็นโดมโค้ง สูง ๑๐ เมตร โดยรอบตกแต่งด้วยภาพเขียนจิตรกรรม “อนันตจักรวาล” และอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ประทับใต้ร่มไม้ตรัสรู้ประจำพุทธองค์โดยรอบ โดยเกี่ยวกับเรื่องราวของโลกใต้ทะเลไทย ขณะที่เพดานนอกโดมทาสีแดงประดับลายทองรูป ๑๒ นักษัตร และเทพชุมนุม ฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบสองร้อยปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 จิตรกรรมอดีตพุทธะที่เรียงรายโดยรอบ
 ภาพวาดเทพชุมนุม
 ลายทอง ๑๒ นักษัตรประดับบนเพดาน

กึ่งกลางของห้องตั้งตระหง่านด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากแก้วล้วน ๆ องค์แรกและองค์เดียวของโลก มีชื่อว่า “พระรัตนเจดีย์ศรีมหามงคล” ซึ่งจำลองแบบมาจากองค์พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลแห่งนี้เอง สร้างด้วยแก้วสีเขียวมรกตลายกระแสน้ำ หนา ๑ เซนติเมตร แกะสลักด้วยมือกว่า ๘๐๐ ชิ้น นำมาวางซ้อนกัน ๘๐๐ ชั้น แต่ละชั้นผนึกแน่นด้วยกาวที่มีความใสพิเศษจนมองไม่เห็นรอยต่อซึ่งสั่งทำขึ้นโดยเฉพาะจากอเมริกา รวมความสูง ๘ เมตร น้ำหนัก ๑๘ ตัน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี

ด้านในของเจดีย์ทำเป็นเจดีย์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในซุ้มจระนำทั้งสี่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรทองคำ พระพุทธรูปปางสมาธิทองคำ หลวงพ่อสดทองคำ และลูกแก้ว รอบเจดีย์มีดอกบัวแก้วรายล้อมอยู่โดยรอบ เปรียบเสมือนเจดีย์แก้วเขียวมรกตนี้ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร ฐานล่างของเจดีย์แก้วจะใช้กระจกแกะสลักเป็นรูปพญานาคจำนวน ๘๐ ตัว เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า

 พญานาคแก้วสีเขียวมรกตประดับฐานเจดีย์

ทั้งนี้ เมื่อสามปีที่ผ่านมา ทางวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ยังได้จัดสร้าง “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” พระพุทธรูปทองแดงองค์ใหญ่ ปางสมาธิเกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง ๔๐ เมตร สูง ๖๙ เมตร ประดิษฐานหน้าพระมหารัชมงคลมหาเจดีย์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการก่อสร้างทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้มีการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและดอกบัวสัตตบงกช (หัวใจทองคำ) ภายในพระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันคงเหลือเพียงขั้นตอนการพ่นสีองค์พระและตกแต่งรายละเอียดภายนอกเท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ ซึ่งจะได้มีการจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป

 พระพุทธธรรมกายเทพมงคลใกล้เสร็จสมบูรณ์

คู่มือนักเดินทาง
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐
รถยนต์ส่วนตัว จากวงเวียนใหญ่ตรงมาตามถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม ๒๓ ตรงตามทางโดยชิดซ้ายผ่านแยกไปเรื่อย ๆ จะพบสะพานข้ามคลองเข้าวัด จอดรถได้ที่อาคารจอดรถ ๖ ชั้น หน้าโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ รองรับได้ ๙๐๐ คัน เปิดให้บริการ เวลา ๐๖.๐๐-๒๑.๐๐ นาฬิกา อัตราค่าจอดรถชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงที่ ๒-๔ คิดค่าบริการชั่วโมงละ ๒๐ บาท
กรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงที่สถานีตลาดพลู แล้วนั่งรถสองแถวต่อเข้าไปถึงในบริเวณวัด
พิพิธภัณฑ์ภายในองค์พระเจดีย์เปิดให้เข้าชมในเวลา ๐๘.๐๐-๑๘๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๗ ๐๘๑๑