ลูกปัดจำลองขนาดใหญ่หลากรูปแบบหลายสีสัน |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
หลายคนอาจไม่เคยนึกว่าลูกปัดเม็ดเล็ก ๆ ที่เราใช้เป็นเครื่องประดับกันนั้นจะสามารถใช้ศึกษาความเป็นมาของมนุษยชาติได้
แต่ที่กลางเมืองกระบี่
รอยอดีตที่ปรากฏอยู่บนลูกปัดถูกนำมาไขข้อมูลที่เก็บซ่อนเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราวย้อนหลังไปนับพันปีได้อย่างแจ่มชัดราวกับมีเครื่องย้อนกาลเวลากลับไปก็ไม่ปาน
อาคารพิพิธภัณฑ์ลูกปัด |
พิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน
ตั้งอยู่ที่อาคาร A ภายในอาณาบริเวณของ “ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน”
ที่ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นประยุกต์ทั้งหมด ๕ หลังบนพื้นที่กว่า
๗ ไร่ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๗ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่ม ๕ จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน
อันได้แก่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และตรัง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์
ศิลปวัฒนธรรม และใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
โดยอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกระบี่
ภายในพิพิธภัณฑ์เน้นนำเสนอเรื่องราวของลูกปัดโบราณ ในฐานะหลักฐานจากอดีตอันสะท้อนถึงเส้นทางการค้าทางทะเลสมัยโบราณในภาคใต้ของไทยสมัยโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่ตกทอดผ่านกาลเวลามาจนถึงยุคปัจจุบัน
จัดนิทรรศการถาวรแบ่งเป็น ๗ ห้องตามจำนวนหัวข้อ ให้เดินชมแบบเป็นเส้นทางวงรอบ ล้วนแต่ตื่นตาด้วยการตกแต่งประดับประดาอย่างน่าสนใจ
ประตูทางเข้าอุโมงค์แห่งเวลา ตกแต่งด้วยลูกปัดจำลองยักษ์สีทอง |
เรื่องราวประวัติความเป็นมาของลูกปัดบนเส้นทางการค้าโลกทางทะเล |
ทางเดินเริ่มจากอุโมงค์แห่งเวลาทำด้วยลูกปัดสีทองขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล
เข้าไปยังห้องแรกคือห้องประวัติความเป็นมาของลูกปัด นำเสนอลำดับพัฒนาการของลูกปัดจากอดีตที่เก่าแก่ที่สุดไล่เรียงมาตามลำดับ
ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีสรุปได้ว่าวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้ทำลูกปัดแรกเริ่มคือ
ดิน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น กระดูกสัตว์ เขาสัตว์ งาสัตว์ เขี้ยวและฟันสัตว์
เปลือกหอย รวมถึงปะการัง โดยเมื่อราวสี่หมื่นห้าพันปีก่อนมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้นำวัสดุเหล่านี้มาปั้น
ขัด ฝน หรือตัดเป็นแท่งเล็ก ๆ แล้วเจาะรูร้อยเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องประดับ
ก่อนจะหันมาใช้วัสดุประเภทหินสี หินมีค่า เช่น อาเกต คาร์เนเลียน ฯลฯ
ต่อมาในยุคสำริด ยุคเหล็ก
จึงพัฒนากรรมวิธีขึ้นอีก ด้วยการหลอมโลหะมาทำเป็นลูกปัด โดยเฉพาะลูกปัดแก้วที่มีเทคนิคในการทำที่สลับซับซ้อนและสวยงามสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นได้เมื่อสองพันปีที่แล้ว
แหล่งผลิตลูกปัดแก้วที่สำคัญของโลกพบว่ามีอยู่สามแหล่ง คือ อียิปต์ โรมัน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตลอดเวลาอันยาวนานลูกปัดยังคงได้รับการพัฒนาทั้งวัสดุและกรรมวิธีในการผลิตมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน
ห้องประวัติศาสตร์ลูกปัดภาคใต้ |
แผนที่เส้นทางการค้าทางทะเลโบราณของโลกขนาดใหญ่นำทางมายังห้องประวัติลูกปัดในประเทศไทย
นำเสนอลูกปัดโบราณที่ขุดพบมากมายในประเทศไทย โดยลูกปัดเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี ทำขึ้นในยุคหินใหม่ อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดจากการทำการค้าขายทางทะเลกับอาณาจักรโรมัน อินเดีย
รวมทั้งจีน
“บันทึกประวัติศาสตร์ลูกปัดในภาคใต้” คือหัวข้อที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เนื่องจากค้นพบลูกปัดจากเมืองท่าโบราณหลายต่อหลายแห่งทางภาคใต้ทั้งสองฟากฝั่งทะเล
ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งทะเลอันดามันที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ที่เกาะคอเขา
(เขาหลัก) จังหวัดพังงา ที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือทางฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เขาสามแก้ว
จังหวัดชุมพร และที่อำเภอท่าชนะ ที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำลูกปัด |
ลูกปัดที่พบมีความเก่าแก่และหลากหลาย ในด้านของวัสดุที่ใช้ เช่น หินคาร์เนเลี่ยน
อาเกตหลากสี ควอทซ์ แลปิส อาร์เมทิส แก้ว โลหะ รวมไปถึงทองคำ ซึ่งในห้องนี้ได้จัดแสดงวัสดุต่าง
ๆ เหล่านี้ไว้ในตู้ให้ชมในมุมหนึ่ง พร้อมด้วยขั้นตอนและกรรมวิธีในการทำลูกปัดโดยละเอียด
ส่วนในด้านของรูปแบบยังพบลูกปัดที่มีรูปแบบเฉพาะหาได้ยากเช่น
“ลูกปัดลายแทงสวรรค์” หรือกุญแจเทพ ทำเป็นสัญลักษณ์รูปค้างคาวที่คนจีนเรียกว่า
“ฮก” ถือเป็นสัตว์วิเศษเพราะทั้งบินได้และเดินได้ มีอายุยืน “ลูกปัดอักษรปัลลวะ”
ในภาษาสันสกฤตที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง ๑ เซนติเมตร “ลูกปัดมังกรหยกขาว”
เครื่องรางของจักรพรรดิ์จีน “ลูกปัดสุริยเทพ” ลูกปัดแก้วที่ใช้สีขาว สีดำ
และสีดำ เขียนเป็นรูปหน้าคนคล้ายอินเดียนแดง นอกจากนี้ยังมีลูกปัดแก้วและหินที่มีลวดลายเป็นแบบเฉพาะ
ลูกปัดแก้วแบบต่าง ๆ
เช่น ลูกปัดตา ลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดมีขั้ว และลูกปัดแบบเกลียว
ความหลากหลายของรูปแบบและสีสันอันงดงามนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองแบบขยายส่วนขึ้นมาเป็นลูกปัดนานาชาติ
ขนาดน้อยใหญ่ ผสมผสานหลากสีสันและรูปแบบ ติดเรียงรายเป็นแถวไว้บนผนังให้ผู้เยี่ยมชมได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันด้วย
ห้องแฟชั่นลูกปัด |
เข้าสู่ห้องแฟชั่นลูกปัด เรียงรายด้วยเสื้อผ้าหลากสไตล์
และหุ่นแสดงแบบเสื้อในเครื่องแต่งกายต่าง ๆ อยู่ในตู้ติดผนัง เป็นการนำเสนอลูกปัดในฐานะเครื่องประดับที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์
ซึ่งในอดีตมนุษย์ได้นำลูกปัดมาร้อยเรียงต่อกันเพื่อประดับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
เช่น ตกแต่งศีรษะ เส้นผม จมูก ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มขัดหรือสร้อยรอบเอว สร้อยข้อเท้า
ตามความนิยมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังหมายถึงการบ่งบอกฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย
และแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานหลายพันปี
ลูกปัดก็ยังคงได้รับความนิยมในการนำมาเป็นเครื่องประดับอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
จอวิดีทัศน์ขนาดใหญ่ริมทางเดิน |
ห้องลูกปัดล้ำค่า จัดแสดงลูกปัดที่ขุดพบจากแหล่งต่าง ๆ ในตู้อย่างสวยงาม |
ทางเดินผ่านห้องมืดที่มีจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่หมุนเวียนด้วยวิดิทัศน์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง
ๆ ของจังหวัดกระบี่ แล้วจึงเข้าสู่ห้องลูกปัดล้ำค่า ภายในออกแบบเป็นโถงใหญ่ที่มีประติมากรรมรูปศีรษะบุคลที่มีรูปมือแสดงท่ามุทราจีบนิ้วชี้กับนิ้วกลางอันมีความหมายถึงความร่ำรวยหรืออุดมสมบูรณ์อยู่กึ่งกลางห้อง
ประดับด้วยไฟสีสันสวยงาม จัดแสดงลูกปัดโบราณอันทรงคุณค่าที่ขุดค้นพบจากแหล่งต่าง ๆ
ไว้ในตู้กระจกที่เรียงรายอยู่โดยรอบ
ลูกปัดนำมาออกแบบเป็นรูปร่างต่าง ๆ |
ลูกปัดกับความเชื่อ |
ต่อเนื่องกันเป็นห้องลูกปัดและความเชื่อลูกปัด นำเสนอลูกปัดในฐานะสิ่งที่ผู้คนเคารพนับถือ
ลูกปัดที่ใช้เป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งลูกปัดที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง
ๆ รูปทรงและลวดลายของลูกปัดที่มีความหมายเหมาะสมกับดวงชะตาราศีของแต่ละคน
มุมหนึ่งยังมีระบบมัลติมีเดียพยากรณ์ดวงชะตาตามราศีผ่านลูกปัดแก้ววิเศษให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ลองทดสอบความแม่นยำ
โมบายขนาดใหญ่ |
โมบายคริสตัลขนาดใหญ่คือสัญลักษณ์ของห้องลูกปัดในอนาคต ประติมากรรมลูกปัดผลึกแก้วนี้แขวนเด่นเป็นสง่าจากเพดานลงสู่เบื้องล่างที่เป็นภาพดวงดาวต่าง
ๆ ในรูปแบบลักษณะของระบบสุริยะจักรวาล โดยบนผนังยังทำเป็นกล่องอครีลิคบรรจุลูกปัดหลากสีสันรายล้อมอยู่มากกว่า
๑,๕๐๐ เม็ดเปรียบเสมือนดวงดาว สื่อถึงโลกในอนาคตที่มนุษยชาติมุ่งหน้าออกสู่จักรวาลอันไพศาล ก่อนจะทางเดินจะวกไปยังห้องThank you zone ที่ตกแต่งด้วยวงโลหะขัดเงาวาววับสะท้อนแสงไฟหลากสี
อันเป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึกสุดท้ายก่อนถึงทางออก
ห่วงโลหะสะท้อนแสงวิบวับ |
จุดถ่ายภาพที่ระลึกก่อนถึงทางออก |
หากยังติดใจเรี่องราวของลูกปัด ออกจากนิทรรศการเดินตรงไปจนสุดทาง ยังมีอาคารสาธิตการผลิตลูกปัดอันดามัน
นำเสนอวิธีการทำลูกปัดตามแบบโบราณ โดยช่างฝีมือของเทศบาลเมืองกระบี่ ให้ผู้สนใจได้ร่วมศึกษา
เรียนรู้กระบวนการ ตลอดจนยังสามารถร่วมทดลองทำเอง
ให้รู้ว่ากว่าจะเป็นลูกปัดแต่ละเม็ดต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ มากมายขนาดไหนอีกด้วย
คู่มือนักเดินทาง
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ตั้งอยู่ที่ถนนมหาราช
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ ๘๑๐๐๐ เปิดทำการเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา วันจันทร์-เสาร์
(หยุดบริการทุกวันอาทิตย์ เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์)
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์
๐๘ ๓๔๒๖ ๗๓๙๔ หรือ ๐ ๗๕๖๒ ๑๓๕๙ โทรสาร ๐
๗๕๖๒ ๑๓๕๙ เว็บไซต์ : http://www.museumkrabi.com/
No comments:
Post a Comment