Thursday, September 22, 2016

วัดศรีสุริยวงศาราม การผสมกลมกลืนทางสถาปัตยกรรมสยามกับตะวันตก

 อุโบสถของวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกดูแปลกตา
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙

วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร  สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕   ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๕ – ๒๔๒๑ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว บนที่ดินติดกับทำเนียบ  เพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค โดยท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง

เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดพระราชทานนามว่า “วัดศรีสุริยวงษาวาส” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "วัดศรีสุริยวงศาราม" พระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒

Add caption

จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมในแบบไทยประยุกต์ โดยผสมผสานเอาส่วนประกอบอันเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกหลากหลายเข้ามาไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน แลดูสวยงามแปลกตา เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่สยามประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก จำเป็นต้องยอมรับเอาวิทยาการจากตะวันตกหลายอย่างเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองเป็นอาณานิคม
 ลวดลายปูนปั้นตราสุริยะบนหลังช้างสามเศียรขนาบด้วยเศวตฉัตรเจ็ดชั้นบนหน้าบันพระอุโบสถ

 ลวดลายนกยูงในดวงอาทิตย์  บนหน้าจั่วเหนือซุ้มประตูพระอุโบสถ

 บานหน้าต่างแบบไทยไปด้วยกันได้กับซุ้มและลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่งที่ประดับด้านบน

  เสาแบบโครินเธียนและซุ้มโค้งที่รองรับชายคาปีกนกนอกอุโบสถ

พระอุโบสถใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค (Gothic) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา บนหน้าบันประดับปูนปั้นรูปตราสุริยะรองรับด้วยช้างสามเศียร ขนาบสองข้างด้วยเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ชายคาปีกนกรองรับด้วยเสากลมแบบโครินเธียน (Corinthian) ระหว่างเสาแต่ละต้นเชื่อมต่อด้วยครึ่งวงกลมแบบโค้ง (Arch) พื้นภายนอกแต่เดิมปูด้วยกระเบื้องโมเสก ทว่าปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปูด้วยหินอ่อนแล้ว  หน้าจั่วเหนือซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายรูปดวงดาวเปล่งรัศมี  หน้าจั่วเหนือซุ้มประตูประดับลวดลายนกยูงในดวงอาทิตย์  

ภายในอุโบสถมีความโดดเด่นที่ผนังเขียนสีเลียนแบบลวดลายหินอ่อนสีน้ำตาล 
โคมไฟระย้าหรือแชนเดอร์เลีย ความหรูหราแบบฝรั่งที่ถูกนำมาประดับภายในอุโบสถ 

 ประจักษ์พยานในอัจฉริยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์ทางงานช่างของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็คือผนังโบสถ์ ภายในทั้งสี่ด้านของผนังฉาบปูนวาดสีเป็นลวดลายเลียนแบบหินอ่อนสีน้ำตาล ตามดำริของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่ต้องการพื้นผนังหินอ่อน แต่ราคาหินอ่อนสมัยนั้นแพงมาก เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสั่งซื้อจากอิตาลีแล้วส่งมาทางเรือเท่านั้น

ท่านจึงได้สั่งให้ช่างฉาบผนังด้วยปูน แล้วเซาะร่องให้เหมือนกับรอยต่อของแผ่นหินอ่อน จากนั้นจึงลงสีวาดลายให้ดูเป็นลายหินอ่อนดังที่เห็น ซึ่งหากไม่บอกก็แทบไม่มีใครรู้ว่าเป็นการวาดขึ้นมา เรียกว่าเหมือนหินอ่อนจริงที่สุด ปัจจุบันยังคงเป็นลวดลายเดิมที่อนุรักษ์ไว้ ส่วนล่างของผนังปิดด้วยกระเบื้องแบบเก่าเป็นลวดลายสีน้ำเงินสลับขาวงดงาม เพดานภายในประดับลวดลายปูนปั้นทาสีแบบลายเทศ แขวนโคมไฟระย้าหรือแชนเดอเลียร์ให้ความสว่างไสว
 ภาพพิมพ์หินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หลังองค์พระประธาน

องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๑๕ เมตร ลงรักปิดทอง พุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ หลังองค์พระประธานบนผนังประดับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพื่อแสดงถึงผู้ที่มีส่วนในการสร้างวัดขึ้นมา ทั้งสองภาพเป็นภาพที่ใช้เทคนิคในการพิมพ์ที่เรียกว่าพิมพ์หิน  (Lithography) ที่สวยงามมองดูมีมิติหาชมได้ยาก
 เจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงระฆังตั้งอยู่บนอาคารแปดเหลี่ยมแบบฝรั่งที่ประดับประดาด้วยซุ้มโค้งโดยรอบ

หลังพระอุโบสถเป็นพระเจดีย์ประธานของวัด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ระฆังคว่ำทรงกลม ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งบนตึก ๘ เหลี่ยมแบบฝรั่ง ล้อมรอบด้วยระเบียง พื้นระเบียงแต่เดิมเป็นไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นปูน มีบันไดก่ออิฐขึ้นลงระเบียง ตัวอาคารชั้นล่างทำเป็นซุ้มโค้งโดยรอบรองรับด้วยด้วยเสาพาไลกลมแบบเสาโรมัน ซุ้มแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
 
 ซุ้มประตูทางเข้าวัด สร้างขึ้นภายหลัง แต่ยังคงใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ

 ประติมากรรมปูนปั้นเทวดาเด็กแบบฝรั่งประดับบนยอดซุ้มประตูวัด

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังปรากฏกุฏิก่ออิฐฉาบปูน ๒ ชั้น พื้นปูด้วยไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาอีกสามหลัง ที่สร้างในลักษณะสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกัน รวมไปถึงซุ้มประตูของวัดที่สร้างขึ้นใหม่โดยท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมานุศาสน์ (สุมิตฺตเถระ) อดีตเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ แทนซุ้มประตูที่ทรุดโทรมปรักหักพังไป  แต่ยังคงใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบเดียวกันกับพระอุโบสถเพื่อให้เข้ากัน โดยก่ออิฐฉาบปูน ประตูเป็นซุ้มโค้งขนาบด้วยเสากลมข้างละ ๓ เสา ประดับด้วยรูปครุฑเหนือธรรมจักรสิงห์คู่สองฟากผนัง ตรงกลางซุ้มมีอักษรระบุชื่อ “ วัดศรีสุริยวงศ์ ” ประดับลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง บนส่วนยอดประดับประติมากรรมลอยตัวรูปเทวดาเด็กมีปีก
 
 หอระฆังภายในวัดก็สร้างในรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเพื่อความกลมกลืนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานอันทรงคุณค่า แสดงถึงพัฒนาการทางด้านสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาหนึ่งอันเป็นรอยต่อระหว่างสถาปัตยกรรมประเพณีดั้งเดิมของไทยกับสถาปัตยกรรมที่ประยุกต์รับเอาแบบแผนสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ในยุคสมัยของการปรับปรุงสยามประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งผู้สนใจทางด้านวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมไทยควรได้มาดูชม

คู่มือนักเดินทาง วัดศรีสุริยวงศาราม(ศรีสุริยวงศ์)  ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๓๖๕ ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี  ตรงมาทางหอศิลป์เถ้าฮงไถ่ เลี้ยวขวาเข้าถนนสฤษดิ์เดช ตรงมาจนสุดถนน เลี้ยวขวาตามถนนอัมรินทร์มาจนสุดทาง จะพบวัดอยู่หัวมุมถนนอัมรินทร์ที่เชื่อมต่อกับถนนสุรพันธ์เสนีย์
หน้าต่างกลมอันไม่เคยปรากฏในสถาปัตยกรรมไทยมาก่อน   




Wednesday, September 21, 2016

พระอัฎฐารสคู่ หนึ่งเดียวของประเทศไทย วัดประโชติการาม


 พระอัฏฐารสองค์หน้า ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อสิน” เด่นตระหง่านอยู่ภายในวิหารที่สร้างขึ้นใหม่


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ 

"พระอัฎฐารส" เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธรูป คำว่า“อัฎฐารสเป็นภาษาบาลี (อ่านว่าอัฎฐาระสะ แปลว่าสิบแปด) หมายถึงพระพุทธรูปสูงสิบแปดศอก ซึ่งหมายรวมถึงพระพุทธรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด (ยืน นั่ง เดิน นอน) ที่มีสัดส่วนองค์พระเท่ากับสิบแปดศอก แต่ด้วยในศิลาจารึกสุโขทัยมีข้อความบันทึกว่า “...ในกลางอรัญญิกมีพิหารอันหนึ่งบนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารสอันหนึ่งลุกยืน..."   ทำให้คนส่วนมากเข้าใจไปว่าพระอัฏฐารสหมายถึงพระพุทธรูปยืนอย่างเดียว  

คติความเชื่อในการสร้างพระอัฏฐารสนี้สันนิษฐานว่าช่างในสมัยโบราณสร้างตามข้อความที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อันกล่าวไว้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูงสิบแปดศอก ซึ่งคติความเชื่อในการสร้างพระสิบแปดศอกเริ่มนิยมกันมาจากในลังกาทวีป ก่อนที่นครสุโขทัยจะรับอิทธิพลคติเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์

อย่างไรก็ตามพระอัฏฐารสส่วนใหญ่ที่เป็นพระยืนปางประทานพรอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของของสุโขทัยอย่างหนึ่ง เนื่องจากพบเห็นอยู่มากในเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเมืองที่รับอิทธิพลของสุโขทัย องค์พระยืนนิยมสร้างผนังรองรับไว้ด้านหลัง หรือสร้างในรูปของอาคารที่เรียกกันว่า “คันธกุฎี” ลักษณะคล้ายมณฑปแต่แคบมาก ล้อมองค์พระพุทธรูปเอาไว้เพื่อค้ำยันให้มั่นคงไม่ล้มลงมา 

โดยปกติพระอัฏฐารสประทับยืนมักจะพบเห็นสร้างไว้องค์เดียวโดด ๆ  แต่ที่วัดประโชติการาม จังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะแปลก คือมีสององค์ ประทับยืนหน้า -หลัง แตกต่างออกไปไม่เหมือนที่ไหน เรียกได้ว่าเป็นพระอัฏฐารสคู่แห่งเดียวในประเทศไทย

 หลวงพ่อสิน
















 หลวงพ่อทรัพย์

               ยังไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรว่าทั้งสององค์สร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากรูปแบบพุทธศิลป์และสภาพแวดล้อมพอจะสันนิษฐานได้ว่าทั้งสององค์เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรสมัยสุโขทัย มีลักษณะการผสมผสานอิทธิพลแบบอู่ทองในส่วนพระพักตร์ ประมาณอายุได้ไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี  องค์หน้าประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร เรียกกันว่า "หลวงพ่อสิน" สูง ๓ วา ๓ ศอก ๕ นิ้ว บริเวณด้านหลังพระเศียรทำเป็นรัศมีรูปเปลวคล้ายซุ้มเรือนแก้ว ส่วนองค์หลัง ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป เรียกกันว่า "หลวงพ่อทรัพย์" สูง ๖ วา ๗ นิ้ว

 ภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นสภาพดั้งเดิมขององค์พระหลวงพ่อสินท่ามกลางซากปรักหักพังของวิหาร แลเห็นมณฑปหลวงพ่อทรัพย์อยู่ด้านหลัง

 ภาพถ่ายเก่าด้านข้างของมณฑปและวิหารที่อยู่ในสภาพรกร้างพังเค

แต่เดิมหลวงพ่อสินอยู่ในวิหารที่มีสภาพปรักหักพัง ผนังทลายลงหมด เหลือแต่องค์พระทรุดโทรมยืนเอนเอียงจวนจะล้ม  สามเณรรูปหนึ่งภูมิลำเนาเดิมอยู่ใกล้วัดประโชติการาม แต่ไปจำพรรษาเรียนภาษาบาลีอยู่ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ กลับมาเยี่ยมญาติโยมทางบ้าน เห็นสภาพองค์พระใกล้พังทลายเต็มทีจึงได้ชักชวนญาติโยมนำเสาไม้มาค้ำยันไว้ หลายปีต่อมาสามเณรซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหาสม พ่วงภักดี ลาสิกขาออกมาประกอบกิจการโรงพิมพ์ ส. ธรรมภักดีจนร่ำรวย ได้กลับมาบูรณะองค์หลวงพ่อสินจนมั่นคง แล้วสร้างวิหารครอบขึ้นใหม่   

 เจดีย์องค์เดิมของวัดอยู่หลังมณฑป คั่นกลางด้วยต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ จากภาพถ่ายเก่านี้พอสังเกตเห็นรูปทรงได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง

หลังแนวพระอุโบสถหลังเก่าปรากฏซากเจดีย์เป็นแนวก่ออิฐถือปูนฐานแปดเหลี่ยม กว้าง ๑๒  ยาว ๑๒ เมตร จากภาพถ่ายเก่าที่หลงเหลือพอจะเห็นได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้คงมีความสูงประมาณ ๑๘ เมตร แต่จากการลักลอบขุดค้นหาสมบัติทำให้เจดีย์พังทลายลง ในปีพ.ศ. ๒๔๙๖พบ ไห๔ หูโบราณ ภายในบรรจุพระเครื่อง พระบูชาปางต่าง ๆ หลายสิบชนิด กำไลข้อมือทองคำ ทองเหลือง แหวนหนวดกุ้งแบบโบราณ บริเวณใต้ฐานเจดีย์ ทางวัดในขณะนั้นได้นำออกให้ประชาชนบูชานำรายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถและเจดีย์แทนองค์เก่า จึงเหลือแต่ไหสี่หูโบราณที่ปัจจุบันใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์อยู่ในอุโบสถ

 วิหารหลวงพ่อสินที่สร้างโดยมหาสม พ่วงภักดี ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว

กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดค้นแนวรอบวิหารและมณฑป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลึกลงไปประมาณ ๓ เมตร  พบลวดลายปูนปั้น ช่อฟ้า ใบระกา แนวกำแพงโบราณ และแนวอิฐที่เรียกว่าฐานไพทีรอบอุโบสถ วิหาร และมณฑป  ความยาวประมาณ ๒๐ เมตร ฐานไพทีมี ๒ ชั้น  คาดว่าในอดีตบริเวณวัดประสบปัญหาอุทกภัย จึงสร้างแนวกำแพงขึ้นอีกชั้นหนึ่งแล้วนำดินมาถมอัดเป็นเขื่อน เพื่อไม่ให้น้ำหลากไหลเข้ามาท่วมในบริเวณวิหารและมณฑป  

 วิหารหลังใหม่สถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยประยุกต์ กับภูมิทัศน์ภายในวัดประโชติการามที่ได้รับการปรับปรุงจนงดงาม

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ทางวัดโชติการามได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงมณฑปหลวงพ่อทรัพย์และทุบวิหารของมหาสม พ่วงภักดี ที่สร้างครอบหลวงพ่อสินไว้ แล้วสร้างวิหารสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยประยุกต์หลังใหม่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณฐานรากของวิหารดั้งเดิม รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบใหม่ทั้งหมดจนสวยงามน่าเยี่ยมชม  

ปัจจุบันกำลังมีโครงการที่จะบูรณะปิดทององค์หลวงพ่อทรัพย์และหลวงพ่อสินให้งดงาม ผู้ที่แวะเวียนเข้าไปสักการะสามารถมีส่วนร่วมในการสบทบทุนในการบูรณะพระอัฏฐารสคู่ หนึ่งเดียวในประเทศไทย ให้คงอยู่คู่เมืองสิงห์บุรีต่อไปตราบนานเท่านาน


คู่มือนักเดินทาง
วัดประโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีตาม เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๑  เส้นสิงห์บุรี–ชัยนาท (สายเก่า) ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร 

Thursday, June 2, 2016

ชิโน-โปรตุกีส (โคโลเนียล) ความลงตัวของการผสมผสานทางสถาปัตยกรรม




ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๙

              คำว่า ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portugyese) มาจากคำว่า ชิโน” หมายถึงจีน และคำว่า โปรตุกีส” อันหมายถึง โปรตุเกส  ใช้เป็นชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่ง ที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น  (ภายหลังต่อมานิยมเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่าสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมหรือโคโลเนียลเพื่อให้ครอบคลุมในด้านพัฒนาการมากขึ้น)


รูปแบบสถาปัตยกรรมชนิดนี้เกิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายู ในช่วงจักรวรรดินิยมตะวันตก เมื่อโปรตุเกสเข้ามายึดครองเมืองท่ามะละกาจากอาห์เหม็ด ชาห์ สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรมะละกาเป็นอาณานิคมได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๔ แล้วตั้งสถานีการค้าสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยขึ้น ด้วยสถาปัตยกรรมตามแบบของโปรตุเกส  โดยใช้แรงงานช่างชาวจีนในการก่อสร้าง  ด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบจีน ประกอบกับบริบททางวัฒนธรรมของช่างชาวจีน ทำให้สถาปัตยกรรมมีรูปแบบตามคติความเชื่อของจีนเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของโปรตุเกส   


แม้ว่าในช่วงเวลาต่อมาฮอลันดาและอังกฤษจะเข้ามามีอิทธิพลในมะละกาแทนโปรตุเกส และได้ผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมของฮอลันดาและอังกฤษเข้าไปในการปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติม แต่อาคารเหล่านี้ยังคงถูกเรียกขานว่าสถาปัตยกรรม ชิโน-โปรตุกีส”ต่อมา  

รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ได้แพร่หลายจากมะละกาไปยังดินแดนต่าง ๆ ในแหลมมลายู รวมถึงเมืองที่มีการติดต่อค้าขายกับมะละกา ได้แก่ มาเก๊า มาเลเซีย ปีนัง สิงค์โปร์  รวมทั้งประเทศไทยของเรา ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเมืองภูเก็ต เมืองระนอง และเมืองตะกั่วป่าในจังหวัดพังงาเป็นเมืองที่รับเอาสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสเข้ามา ผ่านทางเมืองปีนังที่มีการติดต่อค้าขายกันใกล้ชิดในเวลานั้นอีกที           
            


สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ปรากฏในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ  ตามลักษณะการใช้งาน กลุ่มแรกคืออาคารสาธารณะ ที่ใช้เป็นที่ทำการของหน่วยราชการ สมาคม โรงเรียน และบริษัทเอกชน ส่วนใหญ่จะก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ตกแต่งด้วยลวดลายจากสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคและลวดลายในยุคต่อมา  


กลุ่มที่สองคือตึกแถว หรือ “เตียมฉู่”  มีลักษณะอาคารหลังคาทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่มีร่องมุมแหลมรูปตัววี ประตูหน้าต่างชั้นล่างประดับตกแต่งลวดลายแบบจีน ในขณะที่ชั้นบนเป็นหน้าต่าง บานขนาดใหญ่ ๒ หรือ ๓ ช่องยาวจดพื้น มีทั้งเป็นบานเกล็ดไม้ปรับได้ และบานเกล็ดกระทุ้ง บนกรอบหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นหลายรูปแบบ ทั้งโค้งครึ่งวงกลม โค้งเสี้ยว บางแห่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ลวดลายที่พบมีทั้งที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ตั้งแต่ยุคคลาสสิค มาจนถึงยุคอาร์ตเดโค ยังมีลายแบบจีน อินเดีย รวมทั้งลายไทยด้วย  ลักษณะพิเศษที่เด่นชัดอีกประการ คือมีช่องทางเดินเชื่อมต่อกันด้านหน้าของตึก ที่เรียกว่า “อาเขต” หรือในภาษาจีนว่า หง่อคาขี่” หมายถึงทางเดินกว้าง ๕ ฟุตจีน  มีหลังคาสำหรับป้องกันแดดและฝน อาคารแบบตึกแถวนี้มีอยู่มากที่สุด

กลุ่มที่สามคือคฤหาสน์ ที่ในภาษาจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเรียกว่า อั้งม้อเหลา” คือ ตึกฝรั่ง (อั้งม้อ แปลว่าผมแดง หมายถึงฝรั่ง ส่วนเหลาหรือหลาว แปลว่า ตึก) ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗  คฤหาสน์เหล่านี้มีลักษณะเป็นตึก ๒ ชั้นขนาดใหญ่ ตัวผนังก่ออิฐฉาบปูนแข็ง ประดับลวดลายปูนปั้นและตกแต่งคล้ายคลึงกับตึกแถว ผสมผสานกันหลากหลายรูปแบบ   


สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่ในย่านตัวเมืองของภูเก็ต เมืองระนอง และ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยที่เมืองภูเก็ตมีจำนวนค่อนข้างมาก ทั้งยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด  

Friday, April 8, 2016

ประติมากรรมปูนปั้นพระโพธิสัตว์ทวารวดี...ที่ถ้ำยายจูงหลาน

 

การออกแบบอย่างประณีต เลือกปั้นประติมากรรมให้อยู่ในบริเวณที่แสงสาดส่อง ขับเน้นให้ดูโดดเด่นงดงาม

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๕๘.

ถ้ำยายจูงหลาน...ชื่ออันฟังดูน่ารักนี้มีที่มาจากการค้นพบถ้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในบริเวณสำนักสงฆ์เขาน้อย หมู่ ๔ บ้านไร่สะท้อน ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี ๒๕๔๘ หรือเมื่อสิบปีที่ผ่านมา

ภายในถ้ำหินปูนเล็ก ๆ สูงประมาณ ๔ เมตร  ภายในเป็นโถง เพดานสูงประมาณ  ๕ เมตร ใต้ปากถ้ำซึ่งถูกตกแต่งเป็นกรอบวงโค้งประดับด้วยปูนปั้นบนผนังทางฝั่งขวา  มีภาพที่ดูคล้ายกับบุคคลหนึ่งกำลังจูงมืออีกบุคคลหนึ่ง  ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า “ถ้ำยายจูงหลาน” ตามอาการที่เห็น

ประติมากรรมปูนปั้นภาพพระโพธิสัตว์และทวยเทพที่มาสักการะ
เด่นสง่าอยู่บนผนังในบริเวณปากถ้ำยายจูงหลาน  

.           ทว่าเมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจและศึกษาก็พบว่า แท้จริงแล้วภาพปูนปั้นนั้นเป็นประติมากรรมสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓  ภาพบุคคล ๓ คนที่ปรากฏ ทางซ้ายมือคือพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ ประทับยืนในท่าเอียงสะโพกหย่อนขาข้างหนึ่ง (ตริภังค์)อยู่ภายในประภามณฑลที่มีเปลวรัศมีล้อมรอบ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นในปางประทานพร พระหัตถ์ขวาทรงถือไม้เท้าหัววงแหวนหรือ “ขักขระ” แนบพระอุระ รอบพระเศียรปรากฏขมวดพระเกศาและพระเกตุมาลาอันเป็นพุทธลักษณะ  จีวรที่ห่มคลุมทาด้วยสีแดงเลือดหมู

            พระโพธิสัตว์กษีติครรภะเป็นที่นิยมนับถือมากในจีนและธิเบต  ตามคัมภีร์ว่าทรงมีวรรณะกายสีเขียวหรือขาว นับเป็นหนึ่งในแปดของกลุ่มพระอัษฎามหาโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายานในนิกายวัชรยานตันตระ มีหน้าที่หลักคือโปรดสรรพสัตว์ในนรกภูมิ โดยปกติจะทรงถือไข่มุกเรืองแสงที่ใช้ขจัดความมืดของนรกในพระหัตถ์ซ้าย และถือไม้เท้าขักขระ ซึ่งใช้สั่นให้เกิดเสียงดังเพื่อเปิดประตูนรกในพระหัตถ์ขวา 

 ภาพพระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ เมื่อพิจารณาใกล้ ๆ
จะเห็นว่าในพระหัตถ์ขวาทรงถือไม้เท้าขักขระ และในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือไข่มุกเรืองแสง

ส่วนภาพบุคคลสองคนทางฝั่งขวา คือภาพที่คนเห็นว่าเป็น “ยายจูงหลาน” เหลืออยู่เพียงบางส่วนไม่ครบทั้งตัวแล้ว  โดยเฉพาะทางซ้ายเหลือเพียงศีรษะและแขนซ้าย ในขณะที่ทางขวาเหลือตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงเข่า มือข้างขวามองดูเหมือนกับจับแขนซ้ายของอีกคนเอาไว้คล้ายจูง ทั้งสองมีศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) และการแต่งกายคล้าย ๆ กับว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน

พินิจจากศิราภรณ์และลักษณะการแต่งกาย
เห็นได้ชัดว่าภาพนี้คือพระโพธิสัตว์อีกสองพระองค์ ซึ่งชาวบ้านมองเห็นเป็นภาพยายจูงหลาน
 

 เหนือขึ้นไปด้านบนตรงกลาง ยังปรากฏร่องรอยภาพบุคคลอีกคนในลักษณะกำลังเหาะมาในอากาศ  ปรากฏในข้อมูลที่บันทึกไว้ว่าแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการ แต่ปัจจุบันกะเทาะไปมองแทบไม่เห็นแล้ว คงมีเพียงประภามณฑลและเปลวรัศมีที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น คาดว่าเป็นภาพของเทพที่เหาะมาสักการะพระโพธิสัตว์ เช่นเดียวกับด้านบนของปากถ้ำถัดออกมาอีกชั้นที่มีภาพเทวดาเหาะพนมมือเหนือศีรษะในลักษณะแสดงความเคารพเช่นกัน

ถือเป็นประติมากรรมปูนปั้นสมัยทวารวดีที่งดงามและมีความน่าสนใจบนเส้นทางล่องลงสู่ภาคใต้ แถมอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางสายหลัก หากผ่านทางไปควรหาโอกาสแวะเวียนเข้าไปชมเป็นบุญตาสักครั้ง

 ทางเข้าสู่ถ้ำยายจูงหลานอันเป็นถ้ำบนภูเขาเล็ก ๆ
 
คู่มือนักเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม)  ออกจากเมืองเพชร ฯ ไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร  เลี้ยวขวากลับรถตรงบริเวณป่าต้นยาง แล้วชิดซ้ายเข้าเลนใน ตรงมาตามทางประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางสู่สำนักสงฆ์เขาน้อยเลาะตามคันคลองห้วยอ่างหิน จะมีป้ายบอกทางไปจนถึงสำนักสงฆ์ ถ้ำจะอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ทางซ้ายมือที่ล้อมรอบด้วยป่าต้นยาง